คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18162/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า วิทยาลัยเฉลิมกาญจนาได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นและเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคล วิทยาลัยเฉลิมกาญจนาจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา 20 บัญญัติว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจจัดการศึกษาในสาขาวิชาใดนอกสถานที่ตั้งได้ รูปแบบ วิธีการจัด การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนี้ วิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศูนย์นครศรีธรรมราชจึงเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาที่เปิดสอนนักศึกษา อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาเท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัยเฉลิมกาญจนานั่นเอง วิทยาลัยเฉลิมกาญจนาจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวเบญญรัศมิ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ผู้รับมอบอำนาจ และหนังสือมอบอำนาจว่า นางสุชีราภรณ์ อธิการบดีวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ได้มอบอำนาจให้นางสาวเบญญรัศมิ์แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย และหากศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว คดีอาจมีผลต่อการฎีกาของคู่ความตามกฎหมายได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share