คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง แต่อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้กล่าวอ้างเพียงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเลขมาตรา จำนวน 6 มาตรา เท่านั้น โดยมิได้บรรยายให้ปรากฏในอุทธรณ์ว่า กฎหมายและบทมาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์สำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายประกอบข้อกล่าวอ้างมาในคำฟ้องด้วยอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งและต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยในข้อ 2 ระบุว่า “……โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำฟ้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จริง เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 184 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก……” จึงเป็นข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่เท่านั้น หาได้ให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้เข้าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184 จึงจะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงนอกคำให้การถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ท้ายประมวลรัษฎากรระบุว่า “5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารค่าอาการแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือสัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินมีความแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมจะทราบจำนวนเงินอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้เงินทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงการกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้ในจำนวนใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่ เมื่อพิจารณาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระค่าหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ โดยให้มีการหักทอนบัญชีกันเป็นครั้งคราว หรือบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้ควรทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้ตามใบคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ตามวงเงินจะบังเกิดมีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้บัญญัติรวมมาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ดังที่ปรากฏในคดีนี้ด้วยไม่ และกรณีไม่อาจตีความหมายที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดมิใช่เอกสารที่มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ศาลชอบที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
จำเลยต่อสู้คดีโดยเริ่มจากคำให้การ การนำสืบพยานจำเลย อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาโดยตลอดว่า สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะ แต่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยว่า บทกฎหมายพิเศษที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างได้บัญญัติให้การสั่งซื้อหรือการบังคับขายหลักทรัพย์จะต้องจัดทำเป็นหนังสือ ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏจากสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ในข้อ 1 “…คำว่า “คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ให้หมายความรวมถึง คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยวาจา โดยโทรสาร โทรพิมพ์ หรือโดยวิธีอื่นใด” จึงเห็นได้ว่า คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไป ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยคดีมานั้น จึงหาเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นตามคำให้การ ข้อ 7 ว่า หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยก็สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ของตนได้ ดังนั้น หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขาย จำเลยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด อันเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำให้การ ข้อ 7 ของจำเลยแล้ว ซึ่งหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยในประเด็นนี้ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยกลับบรรยายอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคำให้การ ข้อ 7 อยู่ในอุทธรณ์หน้าที่ 14 ข้อ 1.7 ในทำนองว่าศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยให้จำเลยทุกข้อที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ตามประเด็นที่ยกขึ้นในคำให้การแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระ จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,236,622.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 27 ต่อปี ของต้นเงิน 2,865,657.39 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,865,657.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2540) ให้ไม่เกิน 370,965.24 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ฟ้องเคลือบคลุมเพราะสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง มิได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184, 113, 282, 102, 195 และมาตรา 196 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่ไม่ชัดแจ้ง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง แต่อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้กล่าวอ้างเพียงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเลขมาตรา จำนวน 6 มาตรา เท่านั้น โดยมิได้บรรยายให้ปรากฏในอุทธรณ์ว่า กฎหมายและบทมาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์สำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายประกอบข้อกล่าวอ้างมาในฟ้องด้วยอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยในประการที่สองว่า โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ข้อเท็จจริงเข้าตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184 จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 และเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่า จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยในข้อ 2 ระบุว่า “……โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ตามฟ้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จริง เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 184 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก…” จึงเป็นข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่เท่านั้น หาได้ให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้เข้าข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184 จึงจะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงนอกคำให้การถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการที่สามมีว่า สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดเป็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เมื่อมิได้ปิดอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ท้ายประมวลรัษฎากรระบุว่า “5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารค่าอาการแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือสัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินมีความแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมจะทราบจำนวนเงินอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้เงินทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงการกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้ในจำนวนใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา ด้วยเหตุนี้บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระค่าหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ โดยให้มีการหักทอนบัญชีกันเป็นครั้งคราว หรือบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้ควรทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้ตามใบคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ตามวงเงินจะบังเกิดมีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้บัญญัติรวมมาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ดังที่ปรากฏในคดีนี้ด้วยไม่ และกรณีไม่อาจตีความหมายที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด มิใช่เอกสารที่มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ศาลชอบที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการที่สี่มีว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 102, 113, 196, 282 และมาตรา 283 เป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ข้อนี้เพียงว่า สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 113 และเป็นความผิดมีโทษทางอาญาตามมาตรา 282 และ 283 ขึ้นมาลอย ๆ โดยมิได้ให้ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่าแตกต่างกัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการที่ห้ามีว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรับฟังว่า จำเลยได้สั่งซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทสหธนกิจไทย จำกัด (มหาชน) (TFS) และบริษัทพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) โดยโจทก์ทดรองจ่ายเงินชำระราคาจำนวน 7,009,667.59 บาท แทนจำเลยไปก่อน ต่อมามูลค่าหลักทรัพย์ดังกล่าวลดลงและจำเลยไม่หาหลักประกันเพิ่ม โจทก์จึงบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยได้เงินประมาณ 2,180,000 บาท หักทอนบัญชีแล้ว คงเหลือยอดหนี้จำนวน 4,830,071.91 บาท กับโจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยวางเป็นหลักประกันมาหักชำระหนี้ คงเหลือยอดหนี้จำนวน 2,865,657.39 บาท ตามใบชำระบัญชีลูกค้ามาร์จิ้นและเอกสารรายการรับชำระเงิน เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีเอกสารการสั่งซื้อหรือบังคับขายหลักทรัพย์ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86, 87 และมาตรา 94 นั้น เห็นว่า จำเลยต่อสู้คดีโดยเริ่มจากคำให้การ การนำสืบพยานจำเลย อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาโดยตลอดว่า สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะ แต่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยว่า บทกฎหมายพิเศษที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างได้บัญญัติให้การสั่งซื้อหรือการบังคับขายหลักทรัพย์จะต้องจัดทำเป็นหนังสือ ในทางตรงกันข้าม กลับปรากฏจากสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ในข้อ 1 “…คำว่า “คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ให้หมายความรวมถึง คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยวาจา โดยโทรสาร โทรพิมพ์ หรือโดยวิธีอื่นใด” จึงเห็นได้ว่า คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไป ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยคดีมานั้น จึงหาเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่ ซึ่งรวมทั้งการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยมาหักชำระหนี้ที่ปรากฏในรายการรับชำระเงิน ที่นางสาวพรทิพย์ พยานโจทก์ และเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้า เบิกความว่าเป็นเงินประมาณ 20,000,000 บาท ดังที่ปรากฏในช่องที่ 3 และศาลชั้นต้นกากบาทสีแดงเหนือด้านบนและใต้ด้านล่างของช่องไว้ ว่าเป็นการพิมพ์ผิด ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เพราะมีเหตุผลรองรับจากการรวมยอดเงินทั้งหมดในช่องที่ 3 ดังกล่าว ก็จะได้จำนวนเงิน 2,224,789.91 บาท เมื่อหักดอกเบี้ยค้างชำระตามที่ระบุในช่องที่ 5 “ดอกเบี้ยจากหนี้ค้างชำระ” ทั้งช่อง จำนวน 149,648.18 บาท ก็จะได้จำนวนเงินที่นำไปหักชำระหนี้โดยหักดอกเบี้ยไปแล้วจำนวน 2,075,141.73 บาท สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ นอกจากนี้ การที่โจทก์บังคับขายหลักทรัพย์บริษัทพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) ของจำเลยไปจำนวน 63,400 หุ้น มิได้ขายไปจำนวนที่จำเลยมีอยู่ทั้งหมด 65,500 หุ้น ก็เป็นการเสียประโยชน์ของโจทก์เอง ส่วนการที่จำเลยนำสืบโดยอ้างส่งรายการบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยว่า แตกต่างกับรายการบังคับขาย ศาลฎีกาพิเคราะห์เปรียบเทียบเอกสารทั้งสองชุดดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รายการบังคับขายตามที่ระบุใน ตรงหรือใกล้เคียงกับรายการบังคับขายที่ระบุใน คือ การบังคับขายหลักทรัพย์ของบริษัทพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) จำนวน 6,000 หุ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 1,800 หุ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 1,500 หุ้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 และจำนวน 4,400 หุ้น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 กับบังคับขายหลักทรัพย์บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด (มหาชน) (TFS) จำนวนที่ใกล้เคียงกันคือ 10,900 หรือ 11,000 หุ้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมชี้ชัดให้รับฟังได้ว่า รายการบังคับขาย ก็คือส่วนหนึ่งของการบังคับขายที่โจทก์ส่งต่อศาลนั่นเอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายมีว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า จำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อต่อสู้ในคำให้การข้อ 7 ซึ่งระบุว่า การกระทำตามฟ้องและหนี้สินทั้งหมดตามฟ้อง เป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 113, 282 แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ โดยเหตุผลว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่เป็นสาระนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะอุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นสาระที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับวินิจฉัยให้ หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นตามคำให้การ ข้อ 7 ว่า หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยก็สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ของตนได้ ดังนั้น หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขาย จำเลยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด อันเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำให้การ ข้อ 7 ของจำเลยแล้ว ซึ่งหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยในประเด็นนี้ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยกลับบรรยายอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคำให้การ ข้อ 7 อยู่ในอุทธรณ์หน้าที่ 14 ข้อ 1.7 ในทำนองว่าศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยให้จำเลยทุกข้อที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ตามประเด็นที่ยกขึ้นในคำให้การแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระ จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้ใหม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์แก้ฎีกาเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้

Share