แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สอง มีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบแปดซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์กระทำละเมิด ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยเงินกู้พิเศษ โดยอนุมัติให้เงินกู้พิเศษแก่ ส. เพื่อซื้อรถยนต์โดยไม่ได้ให้ ส. ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อ ส. จะต้องส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และมูลละเมิดของจำเลยทั้งสิบแปดเกิดจากไม่ดำเนินการหรือละเลยไม่กวดขันให้พนักงานสหกรณ์โจทก์ติดตามทวงถาม ส. ให้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ตามระเบียบของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น ย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จึงล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบแปดร่วมกันชำระเงิน 504,931.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 469,883 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 18 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 11 และที่ 13 ถึงที่ 17 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6 เด็ดขาด ขอให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 6 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบแปดร่วมกันชำระเงิน 504,931.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 469,883 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทราบถึงความเสียหายเมื่อได้มีการประชุมใหญ่สามัญของโจทก์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 และโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อประธานกรรมการของโจทก์ในวันที่ 27 กันยายน 2550 และโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จึงยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเป็นอันขาดอายุความ แม้จะได้ความว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ใต้บังคับอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบแปดซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์กระทำละเมิด ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยเงินกู้พิเศษ โดยอนุมัติให้เงินกู้พิเศษแก่นายสุนิวิษฎเพื่อซื้อรถยนต์โดยไม่ได้ให้นายสุนิวิษฎส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สามารถยึดรถยนต์ดังกล่าวมาชำระหนี้ได้และได้ความว่า เมื่อคณะกรรมการเงินกู้พิเศษมีมติอนุมัติเงินกู้พิเศษให้แก่นายสุนิวิษฎแล้วนายสุนิวิษฎจะต้องส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และมูลละเมิดของจำเลยทั้งสิบแปดตามฟ้องเกิดจากการที่จำเลยทั้งสิบแปดไม่ดำเนินการหรือละเลยไม่กวดขันให้พนักงานของโจทก์ติดตามทวงถามนายสุนิวิษฎให้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ตามระเบียบของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น ย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จึงล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ