คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบแล้วดังนี้ ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม เป็นการปฏิเสธที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหาใช่เป็นการยอมรับไม่ ศาลจะสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาตามมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ที่ให้อำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่าลูกจ้างกับนายจ้างสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ด้วยซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลโดยต้องคำนึงถึงสภาพจากสถานประกอบการนั้น และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างถ้าเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็จะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทนการบังคับให้รับกลับเข้าทำงาน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในการพิจารณาว่าโจทก์จำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันได้มาวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงหาใช่เป็นเรื่องวินิจฉัยนอกประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 9 เลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ โจทก์จึงไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 94/2524 ยกคำร้องของโจทก์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และให้จำเลยที่ 9 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้างและสภาพงานเดิม และจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับทำงาน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้การว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 9 ให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะอัตรากำลังคนมากเกินความจำเป็นจึงต้องลดอัตรากำลังคนและยุบหน่วยงานที่โจทก์สังกัดอยู่ จำเลยมีสิทธิทำได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การเลิกจ้างจึงชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 94/2524 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 เสีย ให้จำเลยที่ 9 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 5 ด้วย

โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า ที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในการพิจารณาว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 9ไม่อาจทำงานร่วมกันได้มาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 9 จ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้งสองแทนการรับกลับเข้าทำงาน เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องว่าจำเลยที่ 9 เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้รับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน จำเลยที่ 9 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบแล้ว ดังนี้คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยถือว่าต่อสู้ว่าไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมเป็นการปฏิเสธที่จะรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน หาใช่เป็นการยอมรับดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ ส่วนที่ว่าจะสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่า ลูกจ้างกับนายจ้างสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ด้วย ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลโดยต้องคำนึงถึงสภาพจากสถานประกอบการนั้น และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างถ้าเห็นว่าพอทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานถ้าเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็จะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทนการบังคับให้รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งทั้งนี้เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความ หาใช่เป็นเรื่องวินิจฉัยนอกประเด็นประการใดไม่

พิพากษายืน

Share