แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถมาชนรถจำเลยที่ 2 ซึ่งหยุดรออยู่ขอบทาง เป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ ดังนี้ จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายผู้อื่นการที่จำเลยที่ 2 ไม่หยุดรถทำการช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 มาตรา 30 วรรค 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูง ขณะที่จะสวนทางกับจำเลยที่ 2 เป็นทางโค้ง จำเลยที่ 2 จึงได้เปลี่ยนเป็นเปิดไฟหน้ารถต่ำแล้วหยุดรถจอดแอบขอบทางซ้ายมือ แต่จำเลยที่ 1 ยังขับรถเร็ว เป็นเหตุให้เสียหลักแฉลบไปชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับโดยแรง เป็นเหตุให้คนตายและบาดเจ็บ จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงนั้นทันที และจำเลยที่ 2 มิได้หยุดรถกระทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตามสมควร แต่ขับรถหนีไป และมิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390, 90, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 68, (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 15 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 6, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 มาตรา 30 วรรคสอง ผู้ขับรถอยู่ในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายผู้อื่นเท่านั้นที่มีหน้าที่หยุดรถทำการช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง จำเลยที่ 2 หยุดรถอยู่ขอบทาง จำเลยที่ 1 ขับรถมาชนรถจำเลยที่ 2 ขับ จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น การที่จำเลยที่ 2 ไม่หยุดรถทำการช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน