แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องถูกทางราชการถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ซึ่งผู้ร้องอาจได้สัญชาติไทยอีกเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และพระราชบัญญัติสัญชาติ แต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ในส่วนที่ไม่ขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้สิทธิผู้ร้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยได้ กรณีของผู้ร้องจึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยวิธีร้องขอให้ศาลสั่งเช่นนั้น หากผู้ร้องเห็นว่าทางราชการถอนสัญชาติผู้ร้องเป็นการกระทำโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีต่อศาล ดังนั้น แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลและพนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านแล้ว จึงเกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทในคดีไม่มีข้อพิพาท แต่เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอต่อศาล ข้อพิพาทในคดีนี้จึงตกไปโดยไม่จำต้องดำเนินคดีต่อไป
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งเก้าสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ต่อมานายอำเภอเมืองเชียงรายได้มีหนังสือให้ยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องทั้งเก้า อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งเก้าขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งเก้าเป็นคนมีสัญชาติไทย
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายยื่นคำร้องคัดค้านทุกสำนวนว่า บิดามารดาของผู้ร้องทั้งเก้าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายและพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ผู้ร้องจึงถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อันเป็นการถูกถอนสัญชาติไทยโดยผลทางกฎหมาย มิใช่เกิดจากการโต้แย้งสิทธิของเจ้าพนักงาน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิดำเนินการทางศาลให้สั่งผู้ร้องมีสัญชาติไทย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งเก้าเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งเก้าสำนวน
ผู้ร้องทั้งเก้าสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งเก้าคนเป็นบุตรของนายเทพศิริจันทร์ และนางเกวียด แซ่เหวียน คนต่างด้าว ผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรไทยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร ต่อมาถูกทางราชการถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ผู้ร้องทั้งเก้าคนจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติการเสนอคดีต่อศาลไว้ 2 ประเภท เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งประการหนึ่ง และเมื่อบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลอีกประการหนึ่ง ผู้ร้องทั้งเก้าคนถูกทางราชการถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 แต่อาจได้สัญชาติไทยอีกเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายตามข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติข้างต้น กล่าวคือจะต้องได้สัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ ทั้งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ส่วนที่ไม่ขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ก็มิได้บัญญัติให้สิทธิผู้ถูกถอนสัญชาติร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย กรณีของผู้ร้องจึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลร้องขอให้สั่งว่าผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประการหลัง ดังนั้น หากผู้ร้องเห็นว่าทางราชการถอนสัญชาติผู้ร้องเป็นการกระทำโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่ผู้ร้องจะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีต่อศาล ที่ผู้ร้องฎีกาว่า พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายคัดค้านคำร้อง เกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) เห็นว่าผู้ร้องฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยการใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 การดำเนินคดีต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 188 บังคับ ที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายคัดค้านจึงเกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทตามมาตรา 188(4) ในคดีไม่มีข้อพิพาท ไม่ใช่ในคดีที่ฟ้องร้องผู้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เป็นข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยตามที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงตกไปโดยไม่จำต้องดำเนินคดีต่อไป ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิขอพิสูจน์สัญชาติได้หรือจะฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ โดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1466/2496 นั้น เป็นเรื่องร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ไม่ตรงกับคดีนี้ จึงนำมาปรับกับคดีนี้ไม่ได้
พิพากษายืน