คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มอบหมายให้ ช.ขับรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 ที่เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลย ช. ขับไปชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยโจทก์ทั้งสองได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้อง ซึ่งระบุว่าจำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกในนามของโจทก์ที่ 1 สภาพแห่งข้อหาในกรณีของโจทก์ที่ 2 คือ จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในนามของโจทก์ที่ 1 โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ช. ขับรถยนต์กระบะที่โจทก์ที่ 1 ประกันภัยไว้ต่อจำเลยชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 เสียหายและมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระค่าซ่อมแซมแก่โจทก์ที่ 2 คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ร่วมกันฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้ต่อจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี กระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยโจทก์ที่ 1 ถือว่าได้ทำโดยโจทก์ที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)
คำว่า “อู่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า “ที่ที่ต่อหรือซ่อมรถหรือเรือ” การที่โจทก์ที่ 1 นำรถยนต์กระบะของตนไปทำการเคลือบสีและพ่นกันสนิมจึงหาเป็นการนำไปให้ซ่อมไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าซ่อมแซมรถยนต์กระบะให้แก่โจทก์ทั้งสองให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิม ให้จำเลยชำระค่าเช่ารถยนต์แทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 33,000 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 33,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเช่ารถยนต์แทนโจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระราคาค่าซ่อมให้โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 2 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มอบหมายให้นายไชยรัตน์ขับรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 ที่เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลย นายไชยรัตน์ขับไปชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยโจทก์ทั้งสองได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้อง ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 หมวดที่ 2 การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.3 ความรับผิดต่อทรัพย์สิน ระบุว่าจำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกในนามของโจทก์ที่ 1 สภาพแห่งข้อหาในกรณีของโจทก์ที่ 2 คือ จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในนามของโจทก์ที่ 1 โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า นายไชยรัตน์ขับรถยนต์กระบะที่โจทก์ที่ 1 ประกันภัยไว้ต่อจำเลยชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 เสียหาย และมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระค่าซ่อมแซมแก่โจทก์ที่ 2 คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ร่วมกันฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้ต่อจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี กระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยโจทก์ที่ 1 ถือว่าได้ทำโดยโจทก์ที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า การที่โจทก์ที่ 1 นำรถยนต์กระบะของตนไปทำการเคลือบสีและพ่นกันสนิมที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดคลีนปาร์คคาร์โค้ท และมอบหมายให้นายไชยรัตน์ลูกจ้างของห้างดังกล่าวขับรถยนต์กระบะไปคืนโจทก์ที่ 1 แล้วเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้บุคคลของอู่ใช้รถยนต์กระบะที่จำเลยรับประกันภัยไว้โดยจำเลยมิได้เป็นผู้สั่งหรือให้ความยินยอม กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 1 หรือ ล. 1 ข้อ 2.13.5 และข้อ 3.8.4 หรือไม่ เห็นว่า คำว่า “อู่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า “ที่ที่ต่อหรือซ่อมรถหรือเรือ” ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 นำรถยนต์กระบะของตนไปทำการเคลือบสีและพ่นกันสนิมเท่านั้น จึงหาเป็นการนำไปให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคลีนปาร์คคาร์โค้ททำการซ่อมแล้ว ให้นายไชยรัตน์ซึ่งเป็นบุคคลของห้างดังกล่าวใช้อันจะเป็นเหตุต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่
พิพากษายืน.

Share