คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลคดีเดียวกันกับคดีนี้ที่ศาลแพ่งธนบุรีแต่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิดขึ้นในเขตอำนาจซึ่งคดีจะครบอายุความภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2539 กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสองโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งศาลแพ่งธนบุรีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 4 กรกฎาคม 2539 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม2539 และศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โจทก์ต้องฟ้องจำเลยทั้งสองภายในอายุความคือวันที่ 7 มิถุนายน 2539แต่โจทก์มิได้ดำเนินการ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน894,837 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลคดีเดียวกันที่ศาลแพ่งธนบุรี แต่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิดขึ้นในเขตอำนาจ ซึ่งคดีของโจทก์จะครบอายุความภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2539 กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสองโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีได้ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งศาลแพ่งธนบุรีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2539คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นปัญหาอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share