คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งได้ขายให้แก่จำเลยบางส่วนแต่ได้โอนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลยเป็นเจ้าของทั้งแปลงส่วนของโจทก์ที่ยังเหลือโจทก์ฝากจำเลยไว้ เพราะการแบ่งแยกโฉนดไม่สะดวก ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องได้ความชัดแล้วว่าเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง เป็นเรื่องทำสัญญาขายอำพรางสัญญาฝาก โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงนิติกรรมที่อำพรางไว้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4 ตำบลสวนหลวงอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 20 ไร่ ต่อมาโจทก์ได้โอนขายให้จำเลยที่ 1, 2 ซึ่งเป็นบุตรเขยบุตรสาวเสีย 17 ไร่ 1 งาน 80 วา ส่วนที่เหลือโจทก์ได้ฝากไว้โดยยังไม่ได้แบ่งแยกโฉนดและใช้ชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน เพราะการแบ่งแยกลำบากโจทก์ก็ชราแล้ว บัดนี้โจทก์ประสงค์จะแบ่งแยก จำเลยขัดขืน จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ให้จัดการแบ่งแยกโฉนด

จำเลยให้การว่าโจทก์ขายให้ทั้งหมด ไม่เคยรับฝากที่พิพาทไว้

ศาลชั้นต้นสั่งเรื่องหน้าที่นำสืบว่า ฟ้องโจทก์เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง ให้โจทก์สืบก่อน

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การยอมให้โจทก์สืบเช่นนี้ย่อมเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงเอกสารกรมธรรม์สัญญา ต้องห้าม ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวว่าเป็นนิติกรรมอำพรางพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นย้อนสำนวนไปพิจารณาใหม่ แต่มีความเห็นแย้งว่าควรให้โจทก์สืบพยานได้ และถ้าโจทก์สืบไม่ได้ก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องกล่าวไว้ชัดแจ้งแล้วถึงเรื่องฝากและเรื่องขายจึงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องกล่าวอ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพรางว่าโจทก์จำเลยมีความประสงค์จะผูกพันกันในเรื่องฝากที่ดินที่ยังเหลืออยู่ แต่ไม่ต้องการเปิดเผย ดังความเห็นศาลชั้นต้นและความเห็นแย้งศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไป

Share