คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานศุลกากรซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(16) ดังนั้น เมื่อจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว จึงมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87
จำเลยกับพวกจับโจทก์ได้พร้อมด้วยทองคำแท่งเมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ต้องทำบันทึกการตรวจค้นและจับกุม ต้องตรวจชั่งทองคำแท่งของกลางและประเมินราคาและทำบันทึกรายงานต่ออธิบดีกรมศุลกากรเพื่อให้เปรียบเทียบปรับและงดฟ้องโจทก์ตามคำร้องของโจทก์ ทองคำแท่งของกลางก็มีจำนวนมาก การที่จำเลยควบคุมตัวโจทก์ไว้เป็นเวลาประมาณ 21 ชั่วโมงนับแต่เวลาจับกุม จึงไม่เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานศุลกากร มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจับกุมโจทก์ที่ด่านศุลกากรบ้านห้วยยะอุ โดยมิได้แจ้งข้อหาฐานความผิด แล้วควบคุมโจทก์พร้อมด้วยทองคำแท่งซึ่งจำเลยทั้งสามค้นพบในรถยนต์ที่โจทก์ขับขี่ไปยังด่านศุลกากรแม่สอด โดยไม่นำโจทก์และทองคำแท่งส่งพนักงานสอบสวนแต่กลับควบคุมโจทก์ไว้เกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ลักลอบนำทองคำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต และยกทองคำแท่งให้แผ่นดิน ต่อมาจึงได้นำโจทก์ส่งพนักงานสอบสวนโดยไม่แจ้งข้อหา การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์โดยไม่ชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๑๐, ๘๓, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องในข้อกฎหมาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกควบคุมตัวโจทก์ไว้ตั้งแต่เวลาจับกุม คือวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกานั้น จำเลยที่ ๑ มีอำนาจกระทำได้โดยชอบหรือไม่ และวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒๐ บัญญัติว่า “ถ้าพบผู้ใดกำลังกระทำผิด หรือพยายามจะกระทำผิด หรือใช้ หรือช่วยหรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำผิดต่อบทพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับและนำส่งยังสถานีตำรวจพร้อมด้วยของกลางที่เกี่ยวกับการกระทำผิดหรือพยายามจะกระทำผิด เพื่อจัดการตามกฎหมายและถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดได้กระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ก็ดีหรือมีสิ่งของไปกับตัวอันเป็นของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมาแล้ว หรืออาจได้กระทำผิดขึ้นก็ดีพนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นส่งไปจัดการโดยทำนองเดียวกัน” จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นนายด่านศุลกากรแม่สอดมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ จึงเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๑๖) เมื่อพบโจทก์ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่านำทองเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีอำนาจจับโจทก์โดยไม่ต้องมีหมายจับและนำส่งตำรวจพร้อมด้วยของกลางที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพื่อจัดการตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒๐ ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ ๑ จะควบคุมโจทก์ไว้ได้นานเพียงใดนั้นก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจควบคุมโจทก์ไว้ได้เท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๑๐๒ วรรคแรก บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งมาตรา ๑๐๒ ทวิ ถ้าบุคคลใดจะต้องถูกฟ้องตามพระราชบัญญัตินี้และบุคคลนั้นยินยอมและใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลงหรือทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันตามที่อธิบดีจะเห็นสมควรแล้ว อธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้และการที่อธิบดีงดการฟ้องร้องเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มผู้กระทำผิดนั้น ในการที่จะถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดอันนั้น” เมื่อจำเลยที่ ๑ กับพวกจับกุมตัวโจทก์ได้เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกาต่อจากนั้นจึงนำตัวโจทก์ไปที่ด่านศุลกากรแม่สอดเมื่อมาถึงด่านศุลกากรแม่สอดก็เป็นเวลา ๒๐ นาฬิกาแล้ว จำเลยที่ ๑ ต้องทำบันทึกการตรวจค้นและจับกุมโจทก์ ต้องตรวจชั่งทองคำแท่งของกลางและประเมินราคาและต้องบันทึกคำให้การของโจทก์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงรายงานต่ออธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเปรียบเทียบปรับและงดฟ้อง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ได้ควบคุมตัวโจทก์ไว้เป็นเวลาประมาณ ๒๑ ชั่วโมง เพราะมีความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นหลังจากนั้นจึงนำตัวโจทก์ส่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอดจึงเป็นเวลาที่ควบคุมตัวโจทก์ไว้ไม่เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยที่ ๑ มีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์โดยไม่ชอบ จำเลยที่ ๑จึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share