คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมิได้ออกโดยอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การที่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มายกเลิกพระราชบัญญัติ นี้ จึงหากระทบกระเทือนถึงคำสั่งนั้นไม่
คำสั่งที่มีความว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชยแต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียวนั้น ถือได้ว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้เช่นกันเพียงแต่จ่ายรวมไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็จะจ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับเงินชดเชย ดังนี้ การจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินชดเชยรวมไปด้วย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 24, 28, 34, 35 พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ข้อ 23 ที่ว่าพนักงานประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างจำนวน 30 วัน หรือ 1 เดือน เป็นคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ต่อมาประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2517 เปลี่ยนแปลงอัตราค่าชดเชยใหม่แล้ว แต่จำนวนเงินชดเชยตามคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งฉบับนี้จึงขัดกับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะ และข้อความที่เกี่ยวกับเงินชดเชยตามคำสั่งฉบับดังกล่าว รวมทั้งข้อ 37 ย่อมเป็นโมฆะด้วยนั้น เห็นว่าคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เพียงแต่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกันกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น มิได้ออกโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้การที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 จึงหาเป็นผลกระทบกระเทือนถึงคำสั่งดังกล่าวไม่ และเกี่ยวกับเงินชดเชยตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมข้อ 23 นั้น ถึงแม้จะเป็นการขัดกับกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวกับค่าชดเชยดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงาน และหาเป็นผลให้คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เกี่ยวกับเงินชดเชย และโดยเฉพาะข้อ 37 ที่มีข้อความว่า “ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ 24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว” ตกเป็นโมฆะไปดังอุทธรณ์โจทก์ไม่

ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นเงินประเภทอื่นต่างหากไปจากค่าชดเชย จึงไม่ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่าตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ข้อ 37 มุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจ่ายเงินชดเชยในขณะนั้นหรือค่าชดเชยในปัจจุบันให้แก่พนักงานหรือคนงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เพียงแต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้พนักงานและคนงานได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทเท่านั้น ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยก็ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย ซึ่งก็ถือได้ว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้เช่นกัน เพียงแต่จ่ายรวมไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้นและในกรณีที่เงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชย ก็ให้ได้รับเงินชดเชยอย่างเดียว ซึ่งเท่ากับผู้เช่าต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับเงินชดเชยที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เป็นที่เห็นได้ว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินชดเชยรวมไปด้วย และมิใช่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิในการรับเงินชดเชยของพนักงานตามกฎหมาย จึงจะถือเงินบำเหน็จที่จ่ายตามคำสั่งนี้เป็นเงินประเภทอื่นไม่ได้ ดังนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีก

ส่วนปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 24 โจทก์ที่ 28 โจทก์ที่ 34 และโจทก์ที่ 35 ยอมรับว่าได้รับเงินบำเหน็จจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ไปแล้วช่วงหนึ่ง และเมื่อนำเงินบำเหน็จจำนวนดังกล่าวมารวมเข้ากับเงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับจากจำเลยจะมากกว่าค่าชดเชยที่เรียกร้องตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าเมื่อรวมเงินบำเหน็จทั้งสองช่วงที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับมามีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยที่เรียกร้องจากจำเลย และเมื่อการจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยดังวินิจฉัยข้างต้น จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าชดเชยไปครบถ้วนแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 24 โจทก์ที่ 28 โจทก์ที่ 34 และโจทก์ที่ 35 อีกไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 24 โจทก์ที่ 28 โจทก์ที่ 34 และโจทก์ที่ 35 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”

Share