แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ในคดีแพ่ง ผู้อุทธรณ์เป็นผู้มีหน้าที่จัดการนำส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา70เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน แต่โจทก์มิได้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำส่งสำเนาอุทธรณ์นี้แต่ประการใดศาลอุทธรณ์จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามมาตรา 132 (1) แล้ว. โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ได้ตกลงกับทนายจำเลยให้มารับสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ศาลสั่งแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติมา แต่ทนายจำเลยไม่มารับโจทก์มิได้เพิกเฉย ดังนี้ถือว่ากรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสวนยางพาราแปลงหนึ่ง จำเลยได้ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนหาว่าโจทก์ทำเพลิงไหม้ลุกลามเข้าไปในสวนของจำเลย แล้วนำเจ้าหน้าที่ทำแผนที่เกิดเหตุรังวัดเอาที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นของจำเลย และจำเลยได้กรีดยางในสวนของโจทก์ด้วย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๓ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน ๗ วัน
ต่อมาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นรายงานว่าโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายในกำหนดที่ศาลสั่งแต่ทนายจำเลยได้มาขอรับสำเนาอุทธรณ์ไปวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓นั้นแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง สั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามมาตรา ๑๓๒(๑)
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ตกลงกับทนายจำเลยให้มารับสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ศาลสั่งแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติมา แต่ทนายจำเลยไม่มารับ โจทก์มิได้เพิกเฉย ขอให้ศาลฎีกาสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ในคดีแพ่ง โจทก์เป็นผู้มีหน้าที่จัดการนำส่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๐ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน ๗ วันแต่โจทก์มิได้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำส่งสำเนาอุทธรณ์นี้แต่ประการใด ข้อที่โจทก์อ้างว่าได้ตกลงกับทนายจำเลยให้ไปรับสำเนาอุทธรณ์จากเจ้าพนักงานศาลเองแม้จะเป็นเรื่องที่เคยปฏิบัติกันมา ก็มิใช่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจเป็นประการอื่น
พิพากษายืน