แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้และผู้รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 (1) ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจาก ท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ บ. ลักรถจักรยานยนต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์จาก บ. ที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของนายสมศักดิ์ ศรีสำราญ บิดาของนายภาณุวัฒน์ ศรีสำราญ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 นายภาณุวัฒน์ขับรถจักรยานยนต์ไปหาพี่สาวซึ่งทำงานอยู่ที่สถานีบริการน้ำมันที่ตำบลบ้านโป่ง นายใบชาหรือดำ เกตุแก้ว ได้มาขอยืมรถจักรยานยนต์ที่นายภาณุวัฒน์ใช้ขับขี่ขับไปที่บ้านนายใบชา เพื่อไปขอเงินมารดา โดยให้นายภาณุวัฒน์รอรับรถจักรยานยนต์ที่สถานีบริการน้ำมันอีกแห่งหนึ่งที่หลังบ้านมารดาตนเนื่องจากเกรงว่ามารดาจะดุด่าตนที่มาขอเงินต่อหน้านายภาณุวัฒน์ แต่นายใบชาก็ไม่ได้กลับมา นายภาณุวัฒน์จึงต้องกลับไปแจ้งนายสมศักดิ์บิดาเรื่องรถจักรยานยนต์หายไป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 จ่าสิบตำรวจสัญญา ลิบไพรวัลย์ จับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ที่หายไปดังกล่าว และต่อมาจับกุมนายใบชาได้ จึงแจ้งให้นายสมศักดิ์และนายภาณุวัฒน์ทราบ คนทั้งสองยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของนายสมศักดิ์ และนายภาณุวัฒน์ยืนยันว่า นายใบชาเป็นคนลักรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไป ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายใบชาในข้อหาลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปที่จังหวัดราชบุรี จ่าสิบตำรวจสัญญาจับกุมจำเลยพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้ที่จังหวัดนครปฐม คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดราชบุรีหรือไม่ เห็นว่า แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันคือ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกันคือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกันโดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้ และผู้รับของโจร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 (1) ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากนายทองสุข รักภิรมย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่นายใบชาลักรถจักรยานยนต์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์จากนายใบชาที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา
สำหรับปัญหาเรื่องการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น…ฯลฯ… กรณีจึงต้องรับฟังว่า จำเลยรับรถจักรยานยนต์โดยการซื้อมาจากคนร้ายในราคาที่ต่ำมากแสดงให้เห็นพิรุธของจำเลยว่า จำเลยน่าจะรู้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางนั้นเป็นของคนร้าย คดีมีปัญหาต่อไปว่า ควรรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีการลักทรัพย์อย่างแพร่หลาย ทำให้คนร้ายสามารถทำลายหลักฐานในการลักทรัพย์ออกไปให้พ้นตนเอง ทั้งยังได้เงินทองหรือผลประโยชน์จากการลักทรัพย์ดังกล่าวอีก การรับของโจรของจำเลยจึงเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐ พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่ควรรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้จำเลย แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มีภาระทางครอบครัวต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือการถูกจำคุกทำให้บุตรมีปมด้อย และถูกสังคมเหยียดหยาม คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน