คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทุพพลภาพ” หมายถึง หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติ โจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์ โจทก์ย่อมต้องใช้การฟังเสียงเครื่องยนต์ประกอบในการซ่อมรถจักรยานยนต์ และต้องพูดคุยกับลูกค้ามาซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์ การที่ประสาทหูทั้งสองข้างของโจทก์เสีย ไม่ได้ยินเสียง โจทก์จึงหย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติโดยสิ้นเชิงตลอดไป ถือได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า “การบอกกล่าวเรียกร้องผู้เอาประกันต้องบอกกล่าวให้บริษัททราบถึงการทุพพลภาพดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรยังไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบ” ตามข้อความดังกล่าวมิได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพทุกกรณี ในกรณีมีเหตุจำเป็นอันสมควร โจทก์อาจไม่ต้องปฏิบัติตามนั้นได้ โจทก์ไปติดต่อจำเลยด้วยตนเองแต่ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะโจทก์ใช้มือเขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งจำเลยก็ได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะให้โจทก์ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพตามที่กำหนดไว้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตและสัญญาพิเศษเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพไว้กับจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในกรณีโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจำนวนเงิน 300,000 บาท กรณีอุบัติเหตุเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพจำนวนเงิน 300,000 บาท กรณีถูกฆ่าทำร้ายร่างกายจำนวนเงิน 300,000 บาท กรณีเสียชีวิตทุพพลภาพและโรคร้ายแรงจำนวนเงิน 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2533 โจทก์ประสบอุบัติเหตุขณะขับรถจักรยานยนต์และได้รับบาดเจ็บสาหัสหูทั้งสองข้างไม่ได้ยิน ถือว่าเป็นกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับกรณีทุพพลภาพ 300,000 บาทกรณีอุบัติเหตุเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพ 300,000 บาทและกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพและโรคร้ายแรง 300,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามสัญญาประกันชีวิตที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยนั้นจำเลยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเฉพาะกรณีโจทก์ประสบอุบัติเหตุมีผลทำให้โจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และต้องเป็นผลจากอุบัติเหตุโดยตรงและผลดังกล่าวต้องเกิดขึ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ กรณีของโจทก์การทุพพลภาพมิใช่เนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุ และเป็นการทุพพลภาพภายหลัง 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ อาการของโจทก์ไม่ถึงขนาดทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ถ้าได้รับการรักษาต่อไปก็จะหายเป็นปกติได้หากจะฟังว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามที่ระบุในสัญญาประกันชีวิตโจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย 7,500 บาท ทุก ๆ 3 เดือนเท่านั้น และโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาประกันชีวิตกล่าวคือ โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเลี้ยงชีพครั้งละ 7,500 บาททุก ๆ 3 เดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะถึงแก่กรรม แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันชีวิตและสัญญาพิเศษกับจำเลยตามฟ้องระหว่างที่สัญญาดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดโจทก์ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัสประสาทหูทั้งสองข้างเสียไม่ได้ยินเสียงใด ๆ โจทก์เคยไปแจ้งแก่จำเลยด้วยวาจาว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงขอรับเงินค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยไม่ยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้แก่โจทก์ หลังเกิดอุบัติเหตุแล้วโจทก์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่า “ทุพพลภาพ”นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์ โจทก์ย่อมต้องใช้การฟังเสียงเครื่องยนต์ประกอบในการซ่อมรถจักรยานยนต์และต้องพูดคุยกับลูกค้าที่มาซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์ ดังนั้น การที่ประสาทหูทั้งสองข้างของโจทก์เสีย ไม่ได้ยินเสียง โจทก์จึงหย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติโดยสิ้นเชิงตลอดไป ถือได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามสัญญาพิเศษเพิ่มเติมแล้ว
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบภายใน 180 วัน นับแต่วันทุพพลภาพเป็นการผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ข้อนี้ปรากฎว่าตามสัญญาพิเศษเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความว่า “การบอกกล่าวเรียกร้องผู้เอาประกันต้องบอกกล่าวให้บริษัททราบถึงการทุพพลภาพดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรจึงไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบ” เห็นว่า ตามข้อความในสัญญาพิเศษเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้กำหนดไว้อย่างจำกัดเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพทุกกรณี ในกรณีมีเหตุจำเป็นอันสมควร โจทก์อาจไม่ต้องปฏิบัติตามนั้นได้ อีกประการหนึ่งจำเลยได้พิจารณาว่า โจทก์ทุพพลภาพถาวรหรือไม่ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะให้โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาพิเศษเพิ่มเติมอีก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้
พิพากษายืน

Share