แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างโจทก์ปรากฏ ตามคำสั่งของโจทก์เรื่องเลิกจ้างพนักงานแล้ว การที่จำเลย อ้างเหตุต่าง ๆ ที่มิได้ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างนั้นมาใน คำให้การ จึงมิใช่เหตุที่จำเลยจะนำมาใช้อ้างในการเลิกจ้าง โจทก์ได้ ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็น สาระแก่คดี ชอบที่ศาลจะไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อเหตุที่ จำเลยอ้างในคำสั่งเลิกจ้างนั้น มิใช่เหตุที่จำเลยจะ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เริ่มเข้าทำงานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2532 ทำหน้าที่แม่บ้านทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 115 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกินกว่า 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน10,350 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 18 วัน เป็นเงิน 2,070 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 10,350 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,070 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2535 เนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเรื่องการลากิจและการลาพักผ่อนประจำปี ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้าก่อน 2 วันเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดงานได้ แต่โจทก์หยุดงานไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 โดยแจ้งความประสงค์ต่อจำเลยขอลากิจแต่ไม่แจ้งเหตุผลว่าลากิจไปเพราะเหตุใด จำเลยจึงไม่อนุญาตและถือว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยตามความในหมวดที่ 5 ข้อ 36เรื่อง การขาดงานหรือหยุดงานไปโดยไม่แจ้งสาเหตุหรือไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อน และข้อ 58 เรื่องไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับหรือวิธีปฏิบัติในการลาหยุดงานหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการลาหยุดงาน และก่อนที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เคยกระทำความผิดโดยการขาดงานเช่นนี้มาก่อนและเคยถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือรวม 3 ครั้ง ซึ่งการเตือนแต่ละครั้งโจทก์ยินยอมและรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยจริง แต่โจทก์กลับไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของจำเลย และกระทำความผิดด้วยการขาดงานหรือหยุดงานไปโดยไม่ได้รับอนุญาตในวันที่ 22 มิถุนายน 2535 อีก จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยตามความหมายในหมวดที่ 5 ข้อ 32 เรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วและยังเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) นอกจากนี้การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 9 ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้นเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เหตุที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งเรื่องเลิกจ้างพนักงานเอกสารหมายเลข 9 นั้น มิใช่เหตุตามที่จำเลยยกขึ้นมาอ้างในคำให้การ ซึ่งจำเลยมิได้อุทธรณ์ว่าเหตุเลิกจ้างตามคำให้การนั้น เป็นเหตุเลิกจ้างตามที่จำเลยอ้างไว้ในคำสั่งเรื่องเลิกจ้างพนักงานเอกสารหมายเลข 9 ดังนั้นการที่จำเลยอ้างเหตุต่าง ๆ ที่มิได้ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างมาในคำให้การ จึงมิใช่เหตุที่จำเลยจะนำมาใช้อ้างในการเลิกจ้างโจทก์ได้ ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยให้นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และเมื่อเหตุที่จำเลยอ้างในคำสั่งเลิกจ้างนั้นมิใช่เหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน