คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ น. ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งสองโดยให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการโอนที่ดินและนำมาแบ่งแยกเป็น 5 ส่วน แล้วโอนให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนคิดเป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน 71 ตารางวา จึงเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสองเฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้โดยลำพัง แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ทั้งสามตีราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 339,250 บาท และโจทก์ที่ 2 ขอให้โอนที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 เพียง 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 2 งาน 71 ตารางวา คิดเป็นเงิน 67,850 บาท เฉพาะโจทก์ที่ 2 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของนายน้อย ชอุ่มภักดิ์ กับนางลาด ชอุ่มภักดิ์ ต่อมาปี 2482 นางลาดถึงแก่ความตาย นายน้อยได้นางเลี้ยว ชอุ่มภักดิ์ เป็นภริยา และมีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ด้วย วันที่ 1 มกราคม 2528 นายน้อยถึงแก่ความตาย นายน้อยมีทรัพย์สินเป็นมรดกคือที่ดินโฉนดที่ดิน 2171 และ 2173 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2535 นางเลี้ยวเป็นผู้จัดการมรดกของนายน้อยตามคำสั่งของศาล และได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 2171 ออกเป็น 5 แปลง ได้แก่ที่ดินโฉนดที่ 2171 และ 26573 ถึง 26576 วันที่ 6 กันยายน 2536 นางเลี้ยวขายที่ดินโฉนดที่ 26576 ให้แก่นายเกรียงศักดิ์ เลาหะวัฒน์ และวันที่ 25 ตุลาคม 2536 โอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 26573 ให้นางสาวเอมอร ชอุ่มภักดิ์ และโอนที่ดินโฉนดที่ 26574 ให้นางสาวกลอยใจ ชอุ่มภักดิ์ วันที่ 13 กันยายน 2539 นางเลี้ยวถึงแก่ความตายโดยยังจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายน้อยไม่เสร็จสิ้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายน้อยตามคำสั่งของศาลในวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายน้อยโอนที่ดินโฉนดที่ดิน 2171 ให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 5 มกราคม 2541 โอนที่ดินโฉนดที่ 2173 และโฉนดที่ 26575 ให้แก่นางสาววราภรณ์ ชอุ่มภักดิ์ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายน้อยโอนที่ดินโฉนดที่ 2171 เป็นของตนเองโดยไม่แบ่งปันให้แก่ทายาทซึ่งยังไม่ได้รับมรดกอีก 4 คน คือโจทก์ทั้งสามและนางสาวเทวีรัตน์ ชอุ่มภักดิ์ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ 2171 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และนำมาแบ่งแยกเป็น 5 ส่วน แล้วโอนให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนคิดเป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน 71 ตารางวา โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองและทายาทอื่นตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้ว โดยโจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งมรดกเป็นที่ดินโฉนดที่ 6594 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ส่วนโจทก์ที่ 3 ได้รับส่วนแบ่งเป็นที่ดินโฉนดที่ 25898 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 4 ไร่เศษไปแล้ว และโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความสละมรดกให้ไว้แก่จำเลยทั้งสอง ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทายาทอื่นแสดงออกโดยชัดแจ้งว่าจะไม่ขอรับมรดกอีกโดยทำหนังสือสละมรดกไว้ จำเลยที่ 2 รับโอนและเข้าครอบครองที่ดินโฉนดที่ 2171 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โดยสุจริต ทายาททุกคนให้ความยินยอม โดยครอบครองเพียงผู้เดียวนับแต่นายน้อยเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2528 ทายาทอื่นไม่เคยเกี่ยวข้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย และที่ดินโฉนดที่ 2171 เป็นสินสมรสของนายน้อยและนางเลี้ยวจะแบ่งเป็น 5 ส่วนไม่ได้ ทั้งมีทายาท 8 คน จะต้องแบ่งให้คนละ 1 ใน 8 ส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพิกถอนการโอนที่ดินตามโฉนดที่ 2171 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ระหว่างจำเลยทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองแล้วให้จำเลยที่ 1 นำมาแบ่งเป็น 5 ส่วน โดยให้โจทก์ที่ 2 รับไป 1 ใน 5 ส่วน แต่ต้องไม่เกิน 2 งาน 71 ตารางวา ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้นายมนต์ชัย พลวารินทร์ เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกิน 3,390 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายน้อย ชอุ่มภักดิ์ ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของนายน้อยจากจำเลยทั้งสองโดยให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ 2171 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และนำมาแบ่งแยกเป็น 5 ส่วน แล้วโอนให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนคิดเป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน 71 ตารางวา ดังนี้ จึงเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสองเฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้โดยลำพัง แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ทั้งสามตีราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 339,250 บาท และโจทก์ที่ 2 ขอให้โอนที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 เพียง 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 2 งาน 71 ตารางวา คิดเป็นเงินเท่ากับ 67,850 บาท เฉพาะโจทก์ที่ 2 จึงมีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยได้รับทรัพย์มรดกของนายน้อย ไม่เคยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก และไม่เคยทำหนังสือสละมรดกนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้โจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share