คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยทั้งสิบให้การต่อสู้คดี คดีอยู่ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสิบยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกบริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด โอนหนี้ไปให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 15 และ 31 ตุลาคม 2544 แต่มิได้โอนหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไปด้วยเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30, 31, 32 และ 33 ขัดต่อมาตรา 6 มาตรา 30 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ยอมโอนหนี้ตามฟ้องไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามประสงค์ของจำเลยทั้งสิบและเป็นการโต้แย้งการปฏิบัติงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าตัวบทกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 คำร้องของจำเลยทั้งสิบจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบ
จำเลยทั้งสิบฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของจำเลยทั้งสิบดังกล่าวเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งที่ไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ดังที่จำเลยทั้งสิบอ้าง คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสิบฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share