แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 265 บัญญัติว่า “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ…” อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปลอมและใช้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน และระงับซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างไรบ้าง อันเป็นนิยามของคำว่าเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 คงมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 83, 90, 91 นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5472/2544 ของศาลชั้นต้น และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 นำคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2074/2540 ของศาลชั้นต้น มาบังคับโจทก์
ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 5 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมอย่างไร จึงให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 5
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์มิได้ระบุในคำฟ้องว่าเป็นเอกสารสิทธิก็ตาม แต่คำว่าปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 เป็นคำกฎหมายซึ่งไม่จำเป็นจะต้องระบุลงในคำฟ้อง เพียงแต่การบรรยายฟ้องให้ทราบถึงสถานะของเอกสารว่าเป็นสัญญากู้ ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิก็ย่อมเข้าใจได้อยู่ในตัวว่าเป็นเอกสารสิทธิ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 266 แล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 บัญญัติว่า “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ…” อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปลอมและใช้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างไรบ้าง อันเป็นนิยามของคำว่า เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ส่วนความผิดตามมาตรา 266 โจทก์เพียงแต่ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว โดยฎีกาของโจทก์มิได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 วรรคสองและมาตรา 268 วรรคแรก เท่านั้น ซึ่งในความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี จึงเป็นคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”