แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แตกต่างจากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทธนาคารพาณิชย์ แม้โจทก์จะเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้องเกือบทั้งหมด แต่ผู้ร้องก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ ซึ่งการจัดตั้งหรือการจดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์ล้วนแต่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องแล้วทั้งสิ้น การโอนหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพจึงเป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 319,206,030.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 37,000,000 บาท นับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2538 จากต้นเงิน 1,540,000 บาท นับจากวันที่ 18 ตุลาคม 2538 จากต้นเงิน 263,000,000 บาท นับจากวันที่ 26 มีนาคม 2539 จากต้นเงิน 6,458,811 บาท นับจากวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ แต่ละฉบับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 105,008,144.07 บาท (ฟ้องวันที่ 1 ธันวาคม 2540) และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งทำสัญญารับโอนสินทรัพย์จากโจทก์แล้ว ทำให้ผู้ร้องได้มาซึ่งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่มีต่อจำเลย ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า การโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องขัดต่อกฎหมายผู้ร้องเป็นนิติบุคคลที่โจทก์จัดตั้งเองและโจทก์ถือหุ้นเกือบทั้งหมด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความใหม่ ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะไม่ขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีที่ถูกจำเลยฟ้องด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิเพื่อหลีกเลี่ยงการหักกลบลบหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่าผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของสถาบันการเงิน รวมตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้นเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปและทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวกับกิจการที่กล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.1 โดยผู้ร้องได้จดทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ตามสำเนาใบทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอกสารหมาย ร.2 กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โจทก์ ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์โดยโอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมดให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ทันที ตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย ร.7 ซึ่งต่อมาจำเลยตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ โจทก์จึงตกลงโอนหนี้ของจำเลยซึ่งตกเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปตามสำเนาสัญญาความร่วมมือตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเอกสารหมาย ร.9 ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวมาของโจทก์และผู้ร้อง ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวซึ่งระบุไว้โดยชัดแจ้งที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ร้องมิใช่บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต เพราะผู้ร้องเป็นนิติบุคคลที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด จึงไม่อาจถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนไปยังบุคคลที่สามแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แตกต่างจากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทธนาคารพาณิชย์ แม้โจทก์จะเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้องเกือบทั้งหมดแต่ผู้ร้องก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ ซึ่งการจัดตั้งก็ดี หรือการจดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์ก็ดี ล้วนแต่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น การโอนหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพจึงเป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ มิใช่การดำเนินการตามประกาศกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย ร.7 ก็ดี หรือการที่ผู้ร้องไม่ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 31587/2541 ของศาลชั้นต้นก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องอื่นมิใช่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัย คำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ซึ่งได้ดำเนินการโดยชอบตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ดังวินิจฉัยมาแล้ว อันจะถือว่าผู้ร้องกระทำการโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์ได้มีข้อตกลงในการขายสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของจำเลยให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปแล้วก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ฎีกาดังกล่าวนี้ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน