แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีเดิม ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวให้คู่ความฟังโดยชอบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกของกลางท้ายคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 รับโอนรถยนต์บรรทุกของกลางจากผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นผู้ร้องที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของที่จะยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด 9,000 กิโลกรัม โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ56, 83 และริบรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 84-8920กรุงเทพมหานคร ของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ส่วนรถยต์บรรทุกของกลางนั้นยังไม่เห็นสมควรให้ริบ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-8920 กรุงเทพมหานคร ของกลางนอกจากที่คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลาง โดยรับโอนมาจากผู้ร้องที่ 1เมื่อปี 2531 ผู้ร้องทั้งสองไม่รู้ว่าศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาให้ริบของกลางเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 เพราะจำเลยมิได้แจ้งให้ผู้ร้องทั้งสองทราบ ผู้ร้องทั้งสองเพิ่งทราบว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2532 ผู้ร้องทั้งสองขออนุญาตยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง เพราะผู้ร้องทั้งสองมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยด้วย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะขยายนเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลาง และผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางเกินเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในคดีเดิมศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวให้คู่ความฟังโดยชอบเมื่อวันที่24 เมษายน 2530 และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกของกลางท้ายคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 รับโอนรถยนต์บรรทุกของกลางจากผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของที่จะยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องที่ 2ว่ามีเหตุสมควรที่จะขยายเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องที่ 2 หรือไม่”
พิพากษายกฎีกาผู้ร้องที่ 2.