แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ยึดรถยนต์ ของโจทก์ซึ่ง ได้ ให้ ท. เช่าซื้อ ไปแล้วถูก บ. กับพวกนำไปใช้ กระทำความผิดไว้เป็นของกลาง เพื่อจะทำการสอบสวนดำเนิน คดีระหว่างสอบสวน ท. กับพวกอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ ขอคืน จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ ให้ ท. ไปโดย มีประกันต่อมา ท. ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ พิพาทให้โจทก์โจทก์บอกเลิกสัญญา และติดตาม ยึดรถยนต์ คันดังกล่าวคืน นำไปขายต่อให้แก่ผู้อื่น ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ พิพาทจำเลยที่ 1 ยึดเอารถยนต์ พิพาทนั้นมาเป็นเหตุให้โจทก์ถูกห้างหุ้นส่วนจำกัด บญ. ผู้ซื้อรถยนต์ ฟ้อง โจทก์และโจทก์ต้อง ชำระค่าเสียหายให้เพราะเหตุรอนสิทธิ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1ยังห่างไกลต่อ ผลที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ ว่า ท. จะนำรถยนต์ ดังกล่าวไปใช้ไม่เก็บรักษาไว้แล้ว โจทก์จะพบและยึดคืนนำไปขายต่อ ให้แก่ผู้อื่นเนื่องจาก ท. ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ทำให้ผู้ซื้อได้ รับความเสียหาย และผู้ซื้อนั้นจะฟ้องโจทก์ให้รับผิด ยังถือ ไม่ ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อ โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนน.ม.23214 รถยนต์ดังกล่าวมีผู้นำไปใช้กระทำความผิดและถูกยึดโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรักษา จำเลยที่ 1 ละเมิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ผู้อื่นนำรถไปวิ่งบนท้องถนน เมื่อนางทองคำผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวผิดนัดโจทก์ยึดรถยนต์คืนมาแล้วขายต่อให้แก่ผู้อื่น ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับไปยึดรถยนต์มาจากผู้ซื้อเป็นเหตุให้ผู้ซื้อฟ้องให้โจทก์รับผิดเพราะถูกรอนสิทธิโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย เพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นกรมที่จำเลยที่ 1รับราชการสังกัดอยู่ต้องรับผิดชอบด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า รถยนต์คันพิพาทมีผู้นำไปใช้ในการกระทำความผิดและถูกยึดเป็นของกลางเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจนางทองคำยื่นคำร้องแสดงความเป็นเจ้าของรถยนต์ ขอรับรถยนต์ของกลางไปเก็บรักษาเองโดยยินยอมให้ปรับเป็นเงิน 500,000 บาทถ้าส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ทางราชการไม่ได้ ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ของกลาง จำเลยที่ 1 ติดตามเอารถยนต์คืนมาได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ไม่ขอคืนรถยนต์ และความเสียหายก็มิใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดคดีนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน น.ม.-23214เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2520 นางทองคำ วณิชวิชากรกิจ ได้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2521ร้อยตำรวจโทบุญสม สุกคำ (ยศในขณะเกิดเหตุ) กับพวกได้ร่วมกันจับกุมนายบุญหลัน จันทร์วีระวงศ์ กับพวกในข้อหาว่าร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและทำไม้โดยมิได้รับอนุญาตพร้อมกับยึดรถยนต์คันดังกล่าวและรถคันอื่นซึ่งเป็นรถที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางนำส่งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสารวัตรปกครองป้องกันและรักษาการแทนสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอคำชะอีจังหวัดนครพนม ทำการสอบสวนดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2521นางทองคำกับพวกได้ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวกับรถคันอื่นขอนำรถไปเก็บรักษาไว้ หากพนักงานสอบสวนประสงค์จะเรียกรถคืนเมื่อใดก็จะนำไปคืนให้ หากคืนไม่ได้ยอมให้ปรับคันละ500,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงได้เสนอคำร้องพร้อมทั้งบันทึกและสำนวนการสอบสวนต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมเพื่อพิจารณาสั่งการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2521 ต่อมาวันที่ 12พฤษภาคม 2521 พันตำรวจโทฟูศักดิ์ บูรณะธนิต รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ซึ่งรักษาการแทนผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมได้สั่งอนุมัติให้นางทองคำกับพวกรับรถของกลางไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 จึงได้ให้นางทองคำกับพวกรับไปโดยลงหมายเหตุไว้ในบัญชีของกลางเป็นหลักฐาน ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ย้ายไปรับราชการในท้องที่อื่น ระหว่างนั้นนางทองคำผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ดังกล่าวกลับคืนมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2522 และได้ขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกลราชสีมาไปในราคา 177,000 บาท เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 และห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกลราชสีมาได้ขายต่อให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบัวใหญ่พัฒนาไป หลังจากนั้นรถยนต์ดังกล่าวได้ถูกจำเลยที่ 1 ยึดเอาไปขณะอยู่ในความครอบครองของห้างหุ้นส่วนจำกัดบัวใหญ่พัฒนาเนื่องจากศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษาให้ริบ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบัวใหญ่พัฒนาจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกลราชสีมาเรียกค่าเสียหายในการถูกรอนสิทธิเป็นเงิน 300,000 บาทเศษ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกลราชสีมาได้ขอให้ศาลหมายเรียกโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมให้ร่วมรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าว ปัญหามีว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ดูแลเก็บรักษารถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน่หมายเลขทะเบียน น.ม.23214ด้วยตนเองและแจ้งอายัดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด กรณีเกี่ยวกับการดูแลเก็บรักษารถยนต์ของกลาง พันตำรวจเอกหม่อมหลวงต่อสรปราโมช พยานโจทก์เบิกความว่า การเก็บรักษาของกลางของพนักงานสอบสวนนั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการเก็บรักษาของกลางกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2480 และข้อตกลงร่วมมือในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ระหว่างกรมป่าไม้กับกรมตำรวจตามสำเนาเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.3 ว่า ของกลางในคดีอาญาในชั้นอำเภอให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอหรือกิ่งอำเภอเก็บรักษา ฯลฯ และของกลางจำพวกยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิดให้อำนาจพนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือจนกว่าคดีถึงที่สุด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ป.จ.3จะกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีจนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือจนคดีถึงที่สุด แต่มิได้ระบุว่าพนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้เก็บรักษาไว้เอง ทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง พ.ศ. 2480 เอกสารหมายป.จ.1 ข้อ 9 ค. กำหนดให้พนักงานสอบสวนจัดสถานที่สำหรับรักษายานพาหนะของกลางหรือมอบให้ผู้ที่สมควรรักษาไว้แทนก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ของกลางให้นางทองคำนำไปเก็บรักษาไว้เองเป็นการใช้ดุลพินิจปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ให้อำนาจไว้ และไม่ขัดต่อข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้กับกรมตำรวจทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริต หรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จะเกิดความเสียหายขึ้นก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ดังกล่าวแล้วไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่สามารถติดตามมาคืนได้ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ติดตามคืนมาได้ไม่ปรากฏว่าได้รับความเสียหายหรือเสื่อมราคาแต่อย่างใดทั้งจำเลยที่ 1 มอบให้นางทองคำนำไปเก็บรักษาไว้เองก็เนื่องมาจากไม่มีสถานที่เก็บรักษา และขณะนั้นสถานีตำรวจภูธรอำเภอคำชะอีอยู่ในเขตผู้ก่อการร้ายอาจถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีทำให้รถยนต์เสียหายได้ ทั้งมิได้มอบรถยนต์เฉพาะรายของนางทองคำรายเดียวแต่มอบรถของกลางรายอื่นให้ผู้อื่นไปด้วย โดยมีข้อตกลงว่าหากพนักงานสอบสวนเรียกให้คืนเมื่อใดจะต้องนำส่งคืนให้ทันทีในสภาพเดิมหากไม่สามารถส่งคืนได้ยินยอมให้ปรับคันละ 500,000 บาทด้วย จึงเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลอันสมควรข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนมาจากนางทองคำในเดือนธันวาคม 2522 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษาให้ริบในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 โจทก์ก็น่าจะสอบถามนางทองคำหรือสืบให้ทราบเสียก่อนว่ารถยนต์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างเป็นของกลางในคดีอาญาเพื่อที่จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอคืน แต่ก็หาได้กระทำไม่กลับขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกลราชสีมาไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 และปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษาให้ริบและคดีถึงที่สุดไปแล้วย่อมถือได้ว่าเป็นความประมาทของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 หามีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการที่รถยนต์ดังกล่าวถูกยึดเป็นของกลางเพราะเป็นรถที่ใช้ในการกระทำผิดคดีอาญาไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งอายัดทะเบียนรถยนต์ไว้ ทำให้โจทก์ไม่ทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวตกเป็นของกลางในคดีอาญานั้น ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกหม่อมหลวงต่อสร ปราโมชรองผู้บังคับการกองวิชาการ กรมตำรวจ พยานโจทก์ว่าตามระเบียบไม่ได้ระบุว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งการยึดอายัดไปยังนายทะเบียนยานพาหนะ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแจ้งการยึดรถยนต์ดังกล่าวไปให้นายทะเบียนยานพาหนะทราบเพราะไม่มีระเบียบข้อบังคับวางไว้ ถึงแม้จะได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทอักษรว่าผู้รักษาการแทนพันตำรวจโทอักษรได้แจ้งการอายัดรถยนต์ดังกล่าวและรถของกลางคันอื่นไปยังหัวหน้าสถานีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแล้วแต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลจังหวัดนครพนมพิพากษาริบรถยนต์ดังกล่าวและรถของกลางรายอื่นไปแล้ว ถึงอย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า นางทองคำจะนำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ไม่เก็บรักษาไว้ โจทก์จะพบและยึดคืนนำไปขายต่อให้แก่ผู้อื่นเนื่องจากนางทองคำผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทำให้ผู้ซื้อนั้นได้รับความเสียหาย ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะถูกยึดคืนและผู้ซื้อนั้นจะฟ้องโจทก์ให้รับผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงห่างไกลต่อผลที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายของโจทก์…”
พิพากษายืน.