แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติจำเลยที่ 1 กำหนดเงินได้สุทธิของโจทก์เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ป. รัษฎากร มาตรา 49ดังนี้หากเงินจำนวนใดโจทก์นำสืบได้ว่า ได้จ่ายชำระหนี้ไปก็ถือไม่ได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในปีนั้น จึงต้องนำไปหักออกจากจำนวนเงินที่กำหนดเป็นเงินได้สุทธิของโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49กำหนดเงินได้สุทธิของโจทก์ปี 2521 เป็นเงิน 15,215,537.29 บาทและปี 2522 เป็นเงิน 17,339,530 บาท แล้วประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเรียกเก็บจากโจทก์ปี 2521 เป็นเงิน 10,581,535.07 บาทปี 2522 เป็นเงิน 12,106,266.23 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินเรียกเก็บของจำเลยไม่ถูกต้องจึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์โจทก์ไม่มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มตามที่จำเลยประเมิน การประเมินไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานั้นได้ความในเบื้องต้นว่าในปี พ.ศ. 2521 และ 2522นั้นมีหลักฐานว่าโจทก์มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวน 15,235,537.29 บาทและ 17,359,530.12 บาท ตามลำดับคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในปี พ.ศ. 2521 และ 2522 นั้น โจทก์มีหนี้สินอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าในด และเมื่อนำหนี้สินที่มีอยู่ในแต่ละปีมาหักแล้วจะเหลือทรัพย์สินสุทธิของโจทก์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเป็นจำนวนเท่าใด
พิเคราะห์แล้วสมควรวินิจฉัยในแต่ละปีแยกกันไป สำหรับในปีพ.ศ. 2521 นั้น โจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521โจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัด ตามสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.ล.2 แผ่นที่ 96 จำนวน 7,200,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.16 จำนวน 37,000,000 บาท ในวันที่ 27 ธันวาคม 2521เป็นลูกหนี้ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.ล.2 แผ่นที่ 97 จำนวน15,400,000 บาท ซึ่งถ้ารวมจำนวนหนี้ดังกล่าวของโจทก์ที่มีขึ้นในปี พ.ศ. 2521 มาหักกลบกับทรัยพ์สินของโจทก์ที่เพิ่มขึ้นในปีดังกล่าวจำนวน 15,215,537.29 บาท แล้วโจทก์จะไม่มีทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นเลยนอกจากที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัดตามที่กล่าวแล้วตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2521นี้ โจทก์ยังเป็นลูกหนี้บุคคลอื่นอีก ได้พิจารณาสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.ล.2 แผ่นที่ 96 และ 97 แล้ว ตามเอกสารดังกล่าวนั้นปรากฏให้เห็นเพียงว่าโจทก์เป็นผู้จำนองประกันหนี้ลูกหนี้ของธนาคารเอเชีย จำกัด ผู้รับจำนองเท่านั้น มิใช่หลักฐานที่แสดงให้เห็นเป็นการแน่นอนว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ของธนาคารดังกล่าวและถึงแม้ว่าในเอกสารดังกล่าวจะมีข้อความระบุไว้ในทำนองเดียวกันทั้ง 3 ฉบับว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดิน…เพื่อประกันหนี้ทุกประเภทของผู้จำนอง (หมายถึงโจทก์) และหรือนิติบุคคลอื่นและบุคคลอื่นรวม 7 รายการ ก็มิได้หมายความว่า โจทก์จะเป็นหนี้ผู้รับจำนองในวันที่จดทะเบียนจำนองหรือในภายหลัง แต่อยู่ในปี พ.ศ. 2521ซึ่งถ้ามีจำนวนที่โจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัด ในปีดังกล่าวจริงโจทก์ก็สามารถที่แสดงหลักฐานบัญชีที่ธนาคารเจ้าหนี้มีอยู่ได้ แต่โจทก์ก็หาได้นำสืบแสดงหลักฐานดังกล่าวให้เห็นไม่คงเบิกความอ้างขึ้นมาลอย ๆ ว่าเป็นหนี้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาจำนอง ยิ่งกว่านั้นยังได้ความตามคำเบิกความของนางกัลชลีนิมมานเหมินท์ เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยว่า ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือสอบถามไปยังธนาคารผู้รับจำนองทางธนาคารผู้รับจำนองตอบมาว่าไม่มีหนี้สินส่วนตัวของผู้รับจำนองอันหมายถึงโจทก์ ทั้งตามหนังสือของธนาคารเอเชีย จำกัด ผู้รับจำนองเอกสารหมาย จ.ล.2 แผ่นที่ 23 ก็มีความระบุว่า หนี้สินอันเกิดจากการจำนองที่ดินตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันนั้น หนี้สินส่วนตัวของนายสุวิทย์ คัณธามานนท์ไม่มีอยู่กับธนาคารคงมีแต่หนี้สินอันเกิดจากการที่นายสุวิทย์ คัณธามานนท์ ค้ำประกันหนี้ของบุคคลอื่นเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าในปี พ.ศ. 2521นั้น โจทก์เป็นหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัด ตามที่โจทก์อ้าง ดังนั้นข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ในปี พ.ศ. 2521 ไม่ชอบเพราะไม่นำหนี้สินของโจทก์มาหักก่อนนั้นจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนปี พ.ศ. 2522 นั้น โจทก์อุทธรณ์สรุปความได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินคำนวณทรัพย์สินสุทธิของโจทก์ไม่ถูกต้อง 3 ประการ คือ
ประการแรกเจ้าพนักงานไม่นำหนี้สินของโจทก์ที่มีอยู่ในปีพ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย จ.16 จำนวน 37,000,000 บาท มาหักจากทรัพย์สินที่เพิ่ม ข้อนี้นั้นได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้วว่าตามสัญญาจำนองหมาย จ.16 นั้น ฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัด ผู้รับจำนอง จึงไม่มีหนี้ที่จะนำมาหักทอนจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น
ประการที่สองนั้นโจทก์อ้างว่า เจ้าพนักงานประเมินนำหนี้ที่โจทก์เป็นลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด จำนวน29,419,373.30 บาท มาหักทอนจากจำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นไม่ครบถ้วนนำมาหักเพียง 21 ล้านบาทเศษ เท่านั้นเป็นการไม่ถูกต้องข้อนี้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.3 แผ่นที่ 6 ว่า รายการหนี้สินของโจทก์ที่นำมาหักจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้น มีจำนวน29,419,373.30 บาท ซึ่งเป็นจำนวนตรงกับที่โจทก์เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารทหารไทย จำกัดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.7 แผ่นที่ 30 และการ์ดบัญชีที่แสดงยอดเงินที่เบิกไปตามเอกสารหมาย จ.ล.2 แผ่นที่ 40 แสดงว่าได้มีการหักจำนวนหนี้สินของโจทก์ในส่วนนี้ไปครบถ้วนแล้ว ซึ่งยอดเงินจำนวนที่หักในส่วนนี้นั้นเจ้าพนักงานเชื่อว่าโจทก์นำไปจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดิน ส่วนที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ส่วนนี้อีกว่า โจทก์ยังมีหนี้เกี่ยวกับการซื้อที่ดินตามเอกสารหมาย จ.ล.2 แผ่นที่ 63 และ 64 อีก 9,600,000 บาท จึงต้องนำรวมเป็นรายการเกี่ยวกับหนี้และต้องนำมาหักจากทรัพย์สินที่เพิ่มนั้นตามเอกสารหมาย จ.ล.2 แผ่นที่ 63, 64 มีความให้เห็นชัดเจนว่าได้มีการชำระราคากันครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีหนี้สินจำนวนนี้อยู่อีกที่โจทก์นำสืบว่า เงินจำนวนนี้โจทก์ต้องชำระหนี้ให้นายเฉิน อีเหลียง ชาวไต้หวัน นั้นก็คงมีแต่คามเบิกความของโจทก์เบิกความลอย ๆ ไม่มีทั้งรายละเอียดและหลักฐานที่ทำให้พอมองเห็นได้ว่าจะมีหนี้สินกันจริง ทั้ง ๆ ที่จำนวนเงินที่อ้างว่าเป็นหนี้ก็มีจำนวนมิใช้น้อย และตามคำเบิกความของนายวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณอยุธยา กรรมการบริษัทสินพรชัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงให้โจทก์ก็มิได้กล่าวถึงเลยว่าในการชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นมีนายเฉิน อี เหลียง ชาวไต้หวันได้มาเกี่ยวข้องด้วยถ้ามีนายเฉิน อี เหลียง เข้ามาร่วมทุนจริงตามที่โจทก์เบิกความ โจทก์ก็น่าจะถามถึงข้อเท็จจริงส่วนนี้จากนายวิฒนศักดิ์ให้ปรากฏไว้ ทำให้เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเป็นหนี้นายเฉิน อี เหลียง จำนวน 9,600,000 บาท นั้น เป็นการกล่าวอ้างในลักษณะที่ไม่มีใครสามารถจะทราบความจริงได้ ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินไม่เชื่อว่าโจทก์จะมีหนี้สินจำนวนนี้ และไม่นำมาหักจากยอดทรัพย์สินของโจทก์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุผลที่รับฟังได้
ประการที่สามนั้นโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่นำเงินจำนวน 8,666,060.40บาท มารวมเข้ามาเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่เพิ่มขึ้นเป็นการไม่ชอบนั้น เกี่ยวกับจำนวนเงินในส่วนนี้ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทไทยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษ จำกัดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2522 จำนวน 4,000,000 บาท เมื่อวันที่7 มิถุนายน 2522 จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อเป็นเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าว เมื่อเป็นเงินที่โจทก์นำไปลงทุนก็ต้องถือว่าโจทก์มีทรัพย์สินอยู่เท่าจำนวนเงินที่ลงทุนไปในปี พ.ศ. 2522 โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2522 นั้น บริษัทที่โจทก์นำเงินไปลงทุนนั้นกิจการขาดทุนจนส่วนที่โจทก์ลงทุนไปนั้นไม่มีมูลค่าเหลืออยู่หรือเหลืออยู่น้อยกว่าเดิมที่ลงทุนไปเท่าใด จึงต้องถือเอาว่าในปีนั้นมูลค่าในเงินลงทุนของโจทก์มีอยู่เท่าเดิม ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินนำยอดเงินจำนวน 7,000,000 บาท มารวมเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มของโจทก์ในปี พ.ศ. 2522 จึงเป็นการชอบแล้วส่วนที่โจทก์เบิกความว่า บริษัทไทยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษจำกัด ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อปี พ.ศ. 2529 นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากปีที่โจทก์นำเงินไปลงทุนเป็นเวลาหลายปี จึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงส่วนนี้มาพิจารณาว่าในปีพ.ศ. 2522 ที่โจทก์นำเงินไปลงทุนนั้น บริษัทที่โจทก์นำเงินไปลงทุนกิจการและทรัพย์สินไม่มีพอที่จะถือว่าทุนของโจทก์จะหมดไป เพราะในลักษณะของการที่จะลงทุนในกิจการใดนั้น ผู้ลงทุนก็ต้องเล็งเห็นว่าขณะที่ตนลงทุนไปนั้นกิจการต้องไปได้ดี และสำหรับกรณีของโจทก์ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลายประการ อันถือได้ว่าเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจในเหตุการณ์ของธุรกิจเป็นอย่างดีคงไม่มีทางที่จะนำเงินไปลงทุนในขณะที่กิจการของบริษัทที่ตนจะลงทุนนั้นกำลังทรุดโทรม จึงต้องถือว่าในปีพ.ศ. 2522 โจทก์มีเงินทุนที่ลงไปในบริษัทดังกล่าวไม่น้อยกว่าจำนวนที่โจทก์ลงไป สำหรับเงินอีกส่วนหนึ่งจำนวน 1,666,060.40 บาทนั้น โจทก์เบิกความว่า ได้สั่งจ่ายให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นการชำระหนี้และปรากฏตามเช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด ฉบับสุดท้ายในเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 91 นั้น ก็จ่ายให้แก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด จริงเมื่อพิจารณาถึงว่าเช็คฉบับนี้โจทก์จ่ายจากบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด ที่โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้รับเงินนั้นเห็ได้ว่าคงมิใช่เป็นการที่นำเงินเข้าไปฝากในบัญชี เพราะไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากการได้ผลประโยชน์จากดอกเบี้ยในการฝากเงินกับธนาคารนั้นจะมีน้อยกว่าดอกเบี้ยที่จะตัองเสียให้กับธนาคารในการกู้เงินเกินบัญชี ทั้งข้อนี้จำเลยก็มิได้สืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงเป็นที่เชื่อได้ตามคำเบิกความของโจทก์ว่า เป็นการจ่ายเพื่อชำระหนี้เมื่อฟังได้ว่าโจทก์จ่ายเงินจำนวนนี้ไปเพื่อชำระหนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่า เงินจำนวนนี้เป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอายอดเงินจำนวน 1,666,060.40 บาท กลับเข้าไปบวกเพิ่มเป็นทรัพย์สินสุทธิของโจทก์ที่เพิ่มในปี พ.ศ. 2522 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ด้วยจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ชอบที่จะต้องเพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ในปี พ.ศ. 2522 บางส่วน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั่งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับยอดเงินจำนวน 1,666,060.40 บาท นั้นฟังขึ้น นอกนั้นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ในปี พ.ศ. 2522 นั้น ให้นำเงินจำนวน 1,666,060.40 บาทไปหักออกจากจำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มของโจทก์จำนวน 17,359,530.12 บาทก่อนแล้วคำนวณเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจากยอดที่เหลือ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง