คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 จำเลยซื้อสีทาอาคาร และสีน้ำมันต่างๆ รวม 12 ครั้ง คิดเป็นเงิน 641,865.57 บาท ไปจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้วแต่ไม่ชำระเงินภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไข ถือว่าผิดนัด จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้าแต่ละครั้ง ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 คิดเป็นดอกเบี้ย 51,252.13 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 693,117.70 บาท ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินชำระหนี้แก่โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน 448,000 บาท ยังค้างชำระหนี้จำนวน 245,127.70 บาท หลังจากนั้นผิดนัดไม่ชำระหนี้อีกเลย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 253,015.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 193,865.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ได้ระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เนื่องจากโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตีชำระหนี้แทนหนี้ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัดที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share