คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคแรกตอนท้ายที่บัญญัติว่า “แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น” นั้นหมายถึงเฉพาะจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์หรือจำเลยที่ถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่เคยถูกยึดทรัพย์หรือมีการบังคับคดีในคดีนี้มาก่อน ข้อกำหนดหกเดือนจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงขอให้พิจารณาใหม่ได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แพ้คดีและให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยวิธีประกาศหน้าศาล วันที่15 พฤศจิกายน 2525 โจทก์ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง เนื่องจากขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านเลขที่ 196 หมู่ 3ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้องโจทก์ และการดำเนินคดีของโจทก์ตั้งแต่การส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และการส่งคำบังคับ โจทก์ใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์และประกาศหน้าศาล จำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2533 เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายต่อศาลแพ่ง ทนายจำเลยที่ 3 ไปตรวจสำนวนจึงทราบว่าจำเลยที่ 3 ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ หากจำเลยที่ 3 มีโอกาสต่อสู้คดีก็จะไม่แพ้คดี ขอให้ศาลพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่ามีการยึดทรัพย์หรือบังคับตามคำพิพากษาแล้ว คำขอยื่นเกินกำหนดหกเดือนนับแต่นั้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ให้ยกคำขอ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร จำกัดโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 7320/2523 ของศาลชั้นต้นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์คดีนี้ยื่นคำขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่เคยถูกยึดทรัพย์หรือถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีนี้ การส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 3 ส่งโดยวิธีประกาศหน้าศาล ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ข้อนี้จำเลยที่ 3 อ้างว่าเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 3 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ไม่ได้มีภูมิลำเนาตามฟ้อง และคดีนี้จำเลยที่ 3 อาจชนะคดีได้เพราะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ยินยอม จำเลยที่ 3 ย่อมพ้นจากความรับผิดเห็นว่าคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 มีองค์ประกอบตามกฎหมายครบถ้วนคงมีปัญหาแต่เพียงว่าเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้มีการบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 แล้วจะมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 3ไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ด้วยหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคแรก ตอนท้ายที่บัญญัติว่า “แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น” นั้นหมายถึงเฉพาะจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์หรือจำเลยที่ถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่เคยถูกยึดทรัพย์หรือมีการบังคับคดีในคดีนี้มาก่อน ข้อกำหนดหกเดือนจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงขอให้พิจารณาใหม่ได้
พิพากษากลับ ให้รับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินการต่อไป

Share