แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยวางระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จรางวัลซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ การจ่ายเงินบำเหน็จรางวัลแก่พนักงานบริษัทไว้ เพื่อใช้บังคับในกรณีที่การทำงานของพนักงานบริษัทครบเกษียณอายุหรือต้องสิ้นสุดลงอันถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งแห่งสัญญาจ้างเมื่อพนักงานได้กระทำตามเงื่อนไขต่าง ๆดังกำหนดไว้นั้นแล้ว จำเลยย่อมผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานผู้นั้นตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้แม้จำเลยจะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกระเบียบดังกล่าวได้ไม่ว่าจะเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดทั้งนี้ สุดแต่บริษัทจำเลยจะเห็นสมควรก็ตามแต่ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำเลยก็ต้องผูกพันตามนั้นอยู่ขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หากโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยตามกฎเกณฑ์อยู่อย่างไร จำเลยย่อมผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จนั้นแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นพนักงานรักษาเงิน (แคชเชียร์) ของบริษัทจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่ในบริษัทจำเลย จำเลยได้ให้คำมั่นสัญญากับพนักงานของบริษัทจำเลยว่า เมื่อการทำงานของพนักงานคนใดสิ้นสุดลงเพราะครบเกษียณอายุก็ดี บริษัทจำเลยเลิกจ้างก็ดี ถึงแก่ความตายก็ดี หรือสมัครใจลาออกก็ดี บริษัทจำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จรางวัลให้โดยคำนวณจากระยะเวลาการทำงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2515 บริษัทจำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์พร้อมกับจ่ายเงินเดือนเงินฝากสะสมของโจทก์คืนให้โจทก์เป็นเงิน 7,250 บาท โดยอ้างว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรงต่อจำเลย การกระทำของบริษัทจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ทั้งที่โจทก์มิได้กระทำ ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8185/2517 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามกฎหมายและสัญญาดังนี้คือ
ก. จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานหนึ่งเท่าของอัตราเงินเดือนครั้งสุดท้ายเป็นเงิน 5,250 บาท
ข. จ่ายค่าบำเหน็จรางวัลตามสัญญาของบริษัทจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานของจำเลย (น่าจะเป็นโจทก์) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2500 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2515 เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือนเป็นเงิน 81,466.66 บาท ตามคำสั่งเลิกจ้างของบริษัทจำเลยและการที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงและการงานของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์หางานทำไม่ได้เนื่องจากบริษัทห้างร้านตั้งข้อรังเกียจ รวมค่าชดเชย ค่าบำเหน็จรางวัลและค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 266,716.66 บาท ขอให้พิพากษาบังคับบริษัทจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 266,716.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ความจริงมีว่าบริษัทจำเลยทั้งระเบียบเงินรางวัลตอบแทนการออกจากงานโดยบริษัทจำเลยจะพิจารณาให้เงินรางวัลแก่พนักงานผู้ออกจากงานก็ต่อเมื่อพนักงานผู้นั้นได้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทจำเลยถูกต้องตามเงื่อนไขการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ในระเบียบแบบแผนเงินรางวัลตอบแทน อย่างไรก็ดีแม้ว่าพนักงานจะได้ปฏิบัติงานถูกต้องตามระเบียบแล้วก็ตามก็ยังเป็นเอกสิทธิของบริษัทจำเลยที่จะให้เงินรางวัลหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของบริษัทจำเลย เนื่องจากการให้เงินรางวัลตอบแทนเป็นการให้โดยเสน่หาซึ่งบริษัทจำเลยจะให้หรือไม่ก็ได้ และยังเป็นหน้าที่พนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทจำเลยอีกด้วย ปรากฏว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานและมีกรณีส่อไปในทางมีมลทินในกรณีที่มีการลักและปลอมแปลงเช็คของบริษัทจำเลยไปเบิกเงินจากธนาคารเชสแมนฮัตตันการกระทำของโจทก์ทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายและพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับการทำงานของบริษัทจำเลยบริษัทจำเลยจึงได้สั่งให้โจทก์ออกจากงาน ซึ่งตามข้อ 3(ค) ของระเบียบแบบแผนเงินรางวัลตอบแทนการออกจากงานโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินรางวัลตอบแทนการออกจากงานจากบริษัทจำเลยอาศัยอำนาจตามข้อ 3(ค) และข้อ 10 ของระเบียบดังกล่าว บริษัทจำเลยจึงใช้เอกสิทธิวินิจฉัยชี้ขาดไม่ให้เงินรางวัลตอบแทนใด ๆ แก่โจทก์ แม้โจทก์จะเสียหายจริงก็ไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 85,763.78 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทจำเลย ตำแหน่งพนักงานรักษาเงิน เข้าทำงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2500 จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงาน เหตุที่บริษัทจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากมีคนร้ายลักตัดเอาเช็คของบริษัทจำเลยจากสมุดเช็คไป 4 ฉบับ แล้วเขียนกรอกรายการจ่ายเงินและเขียนลายมือชื่อนาย เอ.เจ.เอ็ม.วิชเชอร์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทจำเลยปลอมไปรับเงินจากธนาคารเชสแมนฮัตตันจำนวน 3 ฉบับ เป็นเงิน 480,000 บาท ส่วนเช็คที่เหลืออีก 1 ฉบับไม่ได้นำไปรับเงิน บริษัทจำเลยทราบเรื่องจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์ และสั่งให้โจทก์ออกจากงาน พร้อมทั้งจ่ายเงินครั้งสุดท้ายให้ 7,250 บาท ซึ่งเป็นเงินเดือนของโจทก์ 5,250 บาท กับเงินฝากของโจทก์เดือนละ 250 บาท อีก 2,000 บาท และโจทก์ถูกฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฉ้อโกง หรือฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของบริษัท หรือมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต หรือทำละเมิดต่อบริษัทจำเลย
วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จรางวัลตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่คำมั่นตามกฎหมาย แต่เป็นเพียงสัญญาจะให้โดยเสน่หาไม่มีลักษณะเป็นการผูกมัดจำเลยให้จำต้องจ่ายเงินรางวัลให้พนักงานที่ออกจากงานทุกกรณีไปนั้นพิเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นกฎเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จรางวัลแก่พนักงานของบริษัทจำเลย ซึ่งบริษัทจำเลยวางไว้เพื่อใช้บังคับในกรณีที่การทำงานของพนักงานบริษัทครบเกษียณอายุหรือต้องสิ้นสุดลง อันถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งแห่งสัญญาจ้าง เมื่อพนักงานได้กระทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ดังกำหนดไว้นั้นแล้ว จำเลยย่อมผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานผู้นั้นตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ที่จำเลยอ้างว่าบริษัทจำเลยทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกระเบียบดังกล่าวได้ไม่ว่าจะเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้สุดแต่บริษัทจำเลยจะเห็นสมควร ตามข้อ 9 ของเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของจำเลยฝ่ายเดียวที่จะกระทำเช่นนั้นได้โดยที่พนักงานทุกคนไม่มีสิทธิที่จะโต้แย้งนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะมีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้ แต่ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว จำเลยก็ต้องผูกพันตามนั้นอยู่ ขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หากโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยตามกฎเกณฑ์อยู่อย่างไร จำเลยย่อมผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จนั้นแก่โจทก์ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน