คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ขณะเกิดเหตุโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารคันพิพาทแต่โจทก์เช่ารถยนต์คันพิพาทจากบริษัท ม.โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่ามาและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ในลักษณะที่เรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่า เมื่อรถยนต์คันที่โจทก์เช่ามาถูกเฉี่ยวชนได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมเป็น ผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องได้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ส. กับจำเลยที่ 1ในคดีนี้เป็นจำเลยอีกคดี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 ซึ่งเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์คดีนี้จึง ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ในการพิพากษาคดีนี้จึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 87-7064 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อขับเฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารคันที่นายสายชล บุญธรรม ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของโจทก์ขับทำให้รถยนต์โดยสารได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 72,336.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 67,290 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 34,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เช่ารถยนต์โดยสารคันพิพาทจากบริษัทมอเตอร์ แอนด์ ลีเซ้ง (ประเทศไทย) จำกัดรถยนต์โดยสารคันพิพาทถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1เป็นคนขับเฉี่ยวชนได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารคันพิพาทหรือไม่ เห็นว่าแม้ขณะเกิดเหตุโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารคันพิพาท แต่ปรากฏว่าโจทก์เช่ารถยนต์โดยสารคันพิพาทจากบริษัทมอเตอร์ แอนด์ ลีเซ้ง (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์โดยสารที่เช่ามาและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์โดยสารคันที่เช่าในลักษณะที่เรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าหากมีกรณีต้องคืนรถยนต์โดยสารดังกล่าวเมื่อรถยนต์โดยสารคันที่โจทก์เช่ามาถูกเฉี่ยวชนได้รับความเสียหายโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อต่อไปว่า นายสายชล บุญธรรมพนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการฟ้องข้อหาความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท ศาลได้พิพากษาว่าเหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดความประมาทของทั้งสองฝ่ายตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18530/2537 ของศาลแขวงดุสิตคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องฟังข้อเท็จจริงตามคดีอาญาดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เห็นว่า ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18530/2537ของศาลแขวงดุสิต ดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองอ้างในบัญชีระบุพยานและส่งสำเนาเข้ามาในสำนวนนั้น เป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสายชลกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)และ 157 ซึ่งเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ในการพิพากษาคดีนี้จึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติผิดกฎจราจร แม้ช่องเดินรถที่เกิดเหตุเป็นช่องเดินรถของรถยนต์โดยสารก็จริง แต่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ชิดไปทางด้านขวา เพราะเจ้าพนักงานตำรวจจราจรอนุญาตให้ใช้ได้ ขณะเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ขับไปได้จอดนิ่งแล้ว แต่พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์เลี้ยวรถปีนขึ้นฟุตบาทตกลงมาโดนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ความเสียหายเกิดจากความประมาทของพนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดและพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า โจทก์ยังเป็นผู้เช่ารถยนต์โดยสารคันพิพาทอยู่ในขณะเกิดเหตุนั้น ล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share