คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 โจทก์ฟ้องกรมสรรพากรขอให้เพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว กรณีจึงมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินซึ่งจะต้องอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 แห่ง ป. รัษฎากร เสียก่อน ดังนั้น แม้ว่าบริษัท ร. ซึ่งโจทก์เป็นตัวแทนจะไม่ได้อุทธรณ์การประเมินรายนี้โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง และเป็นกรณีซึ่งจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้หรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์คดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง
แม้ข้อเท็จจริงในคดีจะฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการของบริษัท ร. ในประเทศไทย ซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ก็ตาม แต่เจ้าพนักงานประเมินยังมิได้เรียกโจทก์มาไต่สวนและแจ้งการประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังโจทก์ผู้ซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตาม ป. รัษฎากร มาตรา 19 , 20 คงประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังผู้จัดการบริษัท ร. เท่านั้น ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 76 ทวิ วรรคสาม แห่ง ป. รัษฎากร เมื่อยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ครบถ้วน จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป. รัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประกาศยึดทรัพย์ที่ บร. 1913/2534 และเพิกถอนการอายัดรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ฟัลคอน หมายเลขทะเบียน 8 ก – 5835 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า หมายเลขทะเบียน 5 ห – 2110 กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,163,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามประกาศยึดทรัพย์ที่ บร. 1913/2534 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับของคู่ความว่าบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย ได้เข้ามาจดทะเบียนพาณิชย์ในประเทศไทยเพื่อประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องใช้ในครัวเรือนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2514 โดยมีสำนักงานสาขาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์แทนบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด โดยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าวให้จดทะเบียนและจัดตั้งสำนักงานของบริษัทในประเทศไทย และเป็นผู้จัดการสำนักงานของบริษัทในประเทศไทยตลอดมาจนถึงปี 2524 จึงได้เปลี่ยนผู้จัดการเป็นนายเดวิด ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตรวจสอบการเสียภาษีอากรของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด แล้ว เห็นว่าบริษัทดังกล่าวเสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้อง จึงประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2516, 2522 และ 2523 เป็นเงินภาษีอากรรวม 74,213,418.81 บาท โดยแจ้งการประเมินไปยังนายเดวิด ผู้จัดการสาขาของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ในขณะนั้น แต่ไม่เคยแจ้งการประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังโจทก์ เมื่อบริษัทดังกล่าวไม่ชำระค่าภาษีอากร จำเลยได้มีหมายเรียกและหนังสือเตือนไปยังโจทก์ให้โจทก์มาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ตรี แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์ได้รับหมายเรียกดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉยไม่นำค่าภาษีอากรมาชำระ จำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศ ตามมาตรา 76 ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์มีหน้าที่และความรับผิดต้องชำระภาษีอากรค้างดังกล่าว เมื่อตรวจสอบแล้วจำเลยจึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป. รัษฎากร ยึด อายัด ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรรายนี้ จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว โดยทั้งบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด และโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ มิใช่ขอให้เพิกถอนการประเมินซึ่งจะต้องอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อีกทั้งกรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเห็นว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างที่พิพาท แต่โจทก์ไม่ชำระ จำเลยจึงได้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามอำนาจในมาตรา 12 แห่ง ป. รัษฎากร แต่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้ จำเลยไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้หรือไม่ จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์คดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง
ส่วนอุทธรณ์ข้อที่ว่า โจทก์ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรรายนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ดังจำเลยอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานประเมินยังมิได้เรียกโจทก์มาไต่สวนและแจ้งการประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังโจทก์ผู้ซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตาม ป. รัษฎากร มาตรา 19, 20 คงประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังนายเดวิด ผู้จัดการบริษัทดังกล่าวเท่านั้น ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 76 ทวิ วรรคสาม แห่ง ป. รัษฎากร เมื่อยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ครบถ้วน จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป. รัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของโจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นนี้ 5,000 บาท แทนโจทก์.

Share