แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์มี เงื่อนไขเพียงว่า ถ้าหากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกิน จำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยไป จำเลยยอมใช้เงิน ส่วนที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยใน อัตราสูงสุดตามกฎหมายนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงิน โจทก์จำเลยหาได้มีเจตนาตกลงกันโดยตรงว่า สืบแต่นั้น ไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชี หนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบกันคงชำระ แต่ส่วน ที่เหลืออันเป็นลักษณะสำคัญของบัญชีเดินสะพัดไม่ และถือ ไม่ได้ว่าเป็นการค้าอย่างอื่นในทำนองเช่นว่านั้น อันจะคิดดอกเบี้ยทบต้นกันได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขเป็น บัญชีเดินสะพัด หรือเป็นการค้าขายอย่างอื่นทำนองเดียวกันนี้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลย คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกล่าวถึงการคิดดอกเบี้ยไว้เพียงว่าคิดดอกเบี้ยกันในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ทั้งกรณีมิใช่เรื่องกู้ยืมเงินและไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าให้คิดดอกเบี้ยได้สูงสุดในอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 คือโจทก์มีสิทธิคิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินจำนวนที่เกินบัญชีนั้นเป็นต้นไป (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1587/2523) จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันต่อธนาคารโจทก์ตั้งแต่วันที่7 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และนำที่ดินมาจำนอง เป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ก่อนทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาจำนองโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยในจำนวนเงินส่วนที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีให้จำเลยไป คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 เป็นต้นไป ยอดเงินที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลย เป็นยอดเงินที่คิดดอกเบี้ยมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มาตั้งแต่วันที่จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันตลอดมา หาได้คิด ตามสิทธิควรได้ดังกล่าวไม่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีมาไม่ถูกต้อง ไม่ได้คิดแยกยอดเงินที่ควรได้รับ นับจากจำเลยขอเปิดบัญชีกระแสรายวันจนถึงวันทำสัญญาขอ กู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ว่าเป็นยอดเงินเท่าใดปรากฏว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คหลายร้อยฉบับ และโจทก์จ่ายเงินเกินบัญชี ให้ไปซึ่งศาลไม่มีหน้าที่จะต้องคิดยอดเงินดังกล่าวให้โจทก์เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องคิดยอดมาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในฟ้องเพื่อให้โจทก์จำเลยได้ตรวจสอบโต้แย้งว่าคิดถูกต้องหรือไม่เพียงใด ดังนี้ศาลจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมด โดยให้โจทก์นำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทกระแสรายวันต่อสาขาของโจทก์ จำเลยยอมใช้เงินที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีให้โจทก์พร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย บัญชีของจำเลยมียอดเบิกเกินตลอดมาต่อมาจำเลยได้จำนองที่ดินมีโฉนดไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วเพิกเฉย ขอให้จำเลยใช้เงินที่เบิกเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ย และไถ่ถอนจำนองด้วย
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ และต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมดอกเบี้ยที่ให้จำเลยรับผิดมากกว่าปกติ จำเลยไม่สามารถเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยชำระหนี้อย่างใดในยอดไหน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,620,301.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองก็ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ภายในอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันต่อธนาคารโจทก์ สาขากันทรลักษณ์ ตามเอกสารหมาย ป.จ.2 เข้าลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยทบต้นกันตามประเพณีการค้าขายได้ตามมาตรา 655 วรรคท้ายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์สาขากันทรลักษณ์มีเงื่อนไขในข้อ 18 เพียงว่า ถ้าหากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยไป จำเลยยอมใช้เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงิน โจทก์จำเลยหาได้มีเจตนาตกลงกันโดยตรงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบกัน คงชำระแต่ส่วนที่เหลืออันเป็นลักษณะสำคัญของบัญชีเดินสะพัดไม่ และถือไม่ได้ว่าเป็นการค้าอย่างอื่นในทำนองเช่นว่านั้นอันจะคิดดอกเบี้ยทบต้นกันได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบัญชีเดินสะพัด หรือเป็นการค้าอย่างอื่นทำนองเดียวกันนี้ตามกฎหมายดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1587/2523 ระหว่าง บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด โดยนายวุฒิกรณ์ วชิรพิศุทธิ์โศภิน ผู้จัดการสาขาตลาดยิ่งเจริญ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์นายกิมเม้ง พิบูลสุข จำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยก่อนทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย ป.จ.5 จะเริ่มคิดดอกเบี้ยทบต้นกันได้ตามสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาข้อ 2 และข้อ 3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ระหว่างที่จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2519 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2520 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราใด ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายป.จ.2 ข้อ 18 กล่าวถึงการคิดดอกเบี้ยไว้เพียงว่า คิดดอกเบี้ยกันในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย มิได้กำหนดอัตราโดยนิติกรรมอันชัดแจ้งว่าร้อยละเท่าใดแน่ ทั้งกรณีนี้มิใช่เรื่องกู้ยืมเงิน และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าให้คิดดอกเบี้ยได้สูงสุดในอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 คือโจทก์มีสิทธิคิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินนั้นเป็นต้นไป ดังที่กำหนดไว้ในสัญญาเอกสารหมาย ป.จ.2 ข้อ 18
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดรวมทั้งที่จำเลยทำสัญญาขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี และนำที่ดินมาจำนองเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้นั้น เป็นการคลาดเคลื่อน เห็นว่า จริงอยู่นับแต่วันที่จำเลยทำสัญญาขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยทบต้นได้นั้น ยอดเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเรียก 3,005,695.88 บาท เป็นยอดเงินที่คิดดอกเบี้ยมาไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงมีจำนวนมากเช่นนั้น กล่าวคือ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มาตั้งแต่จำเลยเริ่มเปิดบัญชีกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2519และคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมา หาได้ติดตามสิทธิอันควรได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้วไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเสียทั้งหมดจึงชอบด้วยเหตุผล เพราะโจทก์ฟ้องคดีมาไม่ถูกต้องจึงไม่ได้คิดแยกยอดเงินที่ควรได้รับจากจำเลยขอเปิดบัญชีกระแสรายวันจนถึงวันทำสัญญาขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ว่าเป็นยอดเงินเท่าใด ปรากฏว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คหลายร้อยฉบับ และโจทก์จ่ายเงินเกินบัญชีให้ไป ซึ่งศาลไม่มีหน้าที่จะต้องคิดยอดงินดังกล่าวให้โจทก์ เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องคิดยอดเงินมาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในฟ้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ตรวจสอบโต้แย้งว่าคิดถูกต้องหรือไม่เพียงใด
พิพากษายืน