คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9932/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21การกำหนดเงินค่าทดแทนนั้นต้องคำนึงถึงราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกานอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นรวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม การจะเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าวเขตบึงกุ่มเขตบางกะปิเขตห้วยขวางเขตคลองเตยและเขตพระโขนงกรุงเทพมหานครพ.ศ.2533นั้นมีวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ แต่ปรากฏว่าการเวนคืนที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ดำเนินการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ ในส่วนกลางและสร้างถนนของกรุงเทพมหานครในพื้นราบด้านข้างขนานควบคู่กันไปด้วยอีกทั้งปรากฏว่าถนนของกรุงเทพมหานครในพื้นราบดังกล่าวตัดผ่านที่ดินโจทก์ดังนั้นจากการเวนคืนที่ดินของโจทก์บางส่วนดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ11ไร่เศษทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจำนวน32ไร่เศษมีหน้าที่ดินติดกับถนนของกรุงเทพมหานครทั้งสองฝั่งซึ่งเดิมปรากฏว่าที่ดินกลุ่มนี้ไม่มีถนนสาธารณะผ่านการเวนคืนในกรณีนี้จึงส่งผลในที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นโจทก์จึงได้ประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคหนึ่งก็บัญญัติถึงหลักการและเจตนารมณ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่นอกจะให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนแล้วยังต้องพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมด้วยในกรณีนี้ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าวจึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้วการที่จะกำหนดราคาค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ย่อมไม่เป็นธรรมแก่สังคมและแม้ว่าที่ดินทางทิศใต้ของทางพิเศษที่เหลือมีความกว้าง20ถึง30เมตรไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้ก็ตามแต่โจทก์ยังสามารถสร้างบ้านและอาคารชุดได้ตามที่โจทก์ประสงค์อยู่ตามเดิมไม่ทำให้เสียไปซึ่งวัตถุประสงค์เดิมของโจทก์ถือได้ว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้ง12แปลงในส่วนที่ถูกเวนคืนในคดีนี้เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากอยู่แล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 290 และ 318ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 817,6231, 6348, 6358, 6359, 6360, 39445, 188612, 188613และ 231729 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครรวม 12 แปลง มีเนื้อที่รวม 43 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา เมื่อวันที่4 ตุลาคม 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิเขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 ใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยกำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินของโจทก์ดังกล่าวบางส่วนถูกเวนคืน จำเลยกำหนดค่าทดแทนแก่โจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 290 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 ไร่3 งาน 50 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 2,000 บาท เป็นเงิน2,300,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 318 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่24 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 2,000 บาท เป็นเงิน 48,000 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 817 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 0.5 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 50,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6231ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ10,000 บาท เป็นเงิน 19,500,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6348ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 80 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000บาท เป็นเงิน 4,800,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6358 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อ 3 งาน 5 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาทเป็นเงิน 3,050,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6359 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 งาน 97 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาทเป็นเงิน 3,970,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6360 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 40 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน400,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 39445 ซึ่งถูกเวนคืน เนื้อที่80 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 800,000 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 188612 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 40 ตารางวาในอัตราตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 188613 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 6 ตารางวาในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 60,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 231729 ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 70 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 700,000 บาท รวมเป็นเงิน35,833,000 บาท โจทก์ตกลงกับจำเลยไม่ได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนจึงได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วน สายรามอินทรา-อาจณรงค์ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนกับจำเลย และได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยแล้ว แต่โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ที่ดินของโจทก์ทั้ง 12 แปลง อยู่ติดต่อกัน มีสาธารณูปโภคผ่านอยู่ในทำเลที่มีความเจริญสูง สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทาง ซึ่งเชื่อมโยงกับถนนสายหลักและซอยต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง มีหมู่บ้าน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียนบริษัทห้างร้านซึ่งประชาชนนิยมสัญจรผ่านไปมา ที่ดินทั้ง 12 แปลงของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ตารางวาละ 40,000 บาท จำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มอีกเป็นเงิน 145,867,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินร้อยละ 10 ต่อปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 49,837,892บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 195,704,892 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 145,867,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในการกำหนดเงินค่าทดแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนและจำนวนเงินทดแทนซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของจำเลย ผู้แทนของกรุงเทพมหานครของกรมที่ดินของสภากรุงเทพมหานคร ของสภาเขตลาดพร้าวและของสภาเขตบางกะปิร่วมเป็นกรรมการคณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติกำหนดค่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้ง 12 แปลงตามฟ้องซึ่งถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คือ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 290 และ 318 ตำบลลาดพร้าวอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 817, 6231, 6348,6358, 6358, 6359, 6360, 39445, 188612, 188613 และ 231729ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร รวม 12 แปลงเนื้อที่รวม 43 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยมีจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวบางส่วนถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่รวม 11 ไร่ 1 งาน 42.5 ตารางวา จำเลยกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 290 และ 318 ในราคาตารางวาละ 2,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 188612 ในราคาตารางวาละ5,000 บาท ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ในราคาตารางวาละ 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 35,833,000 บาท โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบทางด่วน สายรามอินทรา-อาจณรงค์กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน และรับเงินจากจำเลยไปแล้ว โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนดคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปว่าจำเลยกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนทั้ง 12 แปลงต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงในท้องตลาด ซึ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ สมควรให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนในราคาตารางวาละ 40,000 บาท ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาดังกล่าว เห็นว่าตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยให้คำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพ และ ที่ ตั้ง ของ อสังหาริมทรัพย์ นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม
ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมและวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดค่าทดแทนให้แก่ที่ดินของโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 290และ 318 ในราคาตารางวาละ 2,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 188612ตารางวาละ 5,000 บาท ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ตารางวาละ 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 35,833,000 บาท เป็นราคาค่าทดแทนที่เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง มีข้อที่จะควรกล่าวถึงด้วยว่าการจะเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 นั้น มีวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ แต่ตามเอกสารหมาย จ.33 และ ล.31ปรากฏว่าการเวนคืนที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ดำเนินการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ในส่วนกลางและสร้างถนนกรุงเทพมหานครในพื้นราบด้านข้างขนานควบคู่กันไปด้วย และในหน้า 2 ของเอกสารหมาย จ.33 ระบุแผนผังและรูปแบบของถนนสายหลัก (ทางพิเศษ) และถนน กทม.ไว้ด้วยตรงกับเอกสารหมาย ล.31 ซึ่งแสดงภาพของทางซึ่งแยกออกเป็น 4 ส่วนเจือสมกับที่นายทวีศักดิ์เบิกความประกอบว่าตามเอกสารหมาย ล.31ด้านข้างเป็นถนน กทม. ตัดผ่านที่ดินโจทก์มีผลทำให้ราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้น ซึ่งนายเกียรติก็เบิกความรับว่า ปัจจุบันทราบว่าทางที่ผ่านที่ดินจะก่อสร้างเป็นทางด่วนพื้นราบ จึงแสดงให้เห็นว่าจากการเวนคืนที่ดินของโจทก์บางส่วนดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่เศษทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจำนวน 32 ไร่เศษ มีหน้าที่ดินติดกับถนนของกรุงเทพมหานครทั้งสองฝั่งซึ่งเดิมปรากฏว่าที่ดินกลุ่มนี้ไม่มีถนนสาธารณะผ่าน ดังนั้นการเวนคืนในกรณีนี้จึงส่งผลให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น โจทก์จึงได้ประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติถึงหลักการและเจตนารมณ์ ในการกำหนดค่าทดแทนที่นอกจะให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนแล้วยังต้องพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมด้วย ในกรณีนี้ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าวจึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้ว การที่จะกำหนดราคาค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ย่อมไม่เป็นธรรมแก่สังคม ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินทางทิศใต้ของทางพิเศษที่เหลือมีความกว้าง 20 ถึง 30 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้นั้น เห็นว่า โจทก์ยังสามารถสร้างบ้านและอาคารชุดได้ตามที่โจทก์ประสงค์อยู่ตามเดิม ไม่ทำให้เสียไปซึ่งวัตถุประสงค์เดิมของโจทก์ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้ง 12 แปลงในส่วนที่ถูกเวนคืนในคดีนี้เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากอยู่แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์อีกสำหรับปัญหาในเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเหมาะสมและเป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในปัญหานี้
พิพากษายืน

Share