คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9548-9570/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คุณสมบัติของสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์แม้ในอุณหภูมิปกติก็ระเหยเป็นไอได้และเมื่อสัมผัสทางผิวหนังหรือเยื่อบุตาก็ทำให้ผิวหนังหรือดวงตาได้รับอันตรายและหากเข้าสู่ร่างกายโดยทางหายใจหรือทางปากก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะเวลานานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายมากน้อยเพียงใดสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์จึงเป็นวัตถุเคมีที่เป็นอันตรายในตัวของมันเองเมื่อสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์เป็นสารที่ระเหยได้ในอุณหภูมิปกติบุคคลที่ทำงานผลิตสารดังกล่าวจึงอาจได้รับอันตรายตลอดเวลาโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานด้านการผลิตสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์งานของโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายตาม(2)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้างลงวันที่16เมษายน2515ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีระบบป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุดีเพียงใดและลูกจ้างของจำเลยเคยได้รับอันตรายหรือไม่งานดังกล่าวของจำเลยจึงตกอยู่ในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ3(3)ที่จำเลยจะต้องจัดให้ลูกจ้างทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ42ชั่วโมงเมื่อปรากฏว่าจำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานสัปดาห์ละ48ชั่วโมงหรือเฉลี่ยวันละ8ชั่วโมงโดยทำงาน6วันเวลาทำงานปกติคือ8ถึง17นาฬิกาพัก12ถึง13นาฬิกาโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงทำงานล่วงเวลาวันละ1ชั่วโมงซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทุกคนตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเพราะโจทก์ทั้งยี่สิบสามสมยอมจำเลยมิได้ผิดสัญญานั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติตามคำแถลงของโจทก์และจำเลยว่าหากโจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็จะได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวด้วยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกชื่อโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 23
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างจำเลย งานที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำเป็นงานเกี่ยวกับการผลิตสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์และมีสารเคมีในขบวนการผลิตกรดซัลฟลูริค โซเดียมไฮดร๊อกไซด์กรดไฮโดรคลอริค อันเป็นสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้างซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ42 ชั่วโมง แต่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงจึงเป็นการทำงานล่วงเวลาสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง โจทก์ทั้งยี่สิบสามได้รับอันตรายค่าจ้างตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสามในค่าล่วงเวลาดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมงหรือเฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง และให้จ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนให้การว่า งานของจำเลยไม่เป็นอันตรายแก่สุขภาพและร่างกายของลูกจ้าง และโจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง หรือวันละไม่เกิน 7 ชั่วโมงโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง กับให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามตามลำดับ ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จำนวน 13.330.32บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 12,378 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,510 บาทโจทก์ที่ 4 จำนวน 2,484 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 27,453 บาทโจทก์ที่ 6 จำนวน 35,404 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 21,703 บาทโจทก์ที่ 8 จำนวน 35,977 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 32,591 บาทโจทก์ที่ 10 จำนวน 31,661 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 35,159 บาทโจทก์ที่ 12 จำนวน 26,360 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 22,512 บาทโจทก์ที่ 14 จำนวน 22,616.32 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 20,282 บาทโจทก์ที่ 16 จำนวน 32,002.67 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 37,312 บาทโจทก์ที่ 18 จำนวน 30,744 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 30,437 บาทโจทก์ที่ 20 จำนวน 27,996 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 28,261 บาทโจทก์ที่ 22 จำนวน 3,992 บาท และโจทก์ที่ 23 จำนวน 12,925 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่8 พฤศจิกายน 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าคุณสมบัติของสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์ในอุณหภูมิปกติเป็นของเหลวใส ไม่มีสีหรือมีสีเหลืองน้ำตาลอ่อนมีกลิ่นเฉพาะ ในอุณหภูมิปกติระเหยเป็นไอได้ สำหรับอันตรายต่อคนนั้นเมื่อสัมผัสทางผิวหนังหรือเยื่อบุตาทำให้เกิดอาคารระคายเคืองผิวหนังแสบร้อน แดง พองเกรียม ตาแดง น้ำตาไหล ปวดตา ตามัวกระจกตาขุ่นฝ้า เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายโดยทางหายใจหรือทางปากอาจเกิดอันตรายได้ โดยกรณีที่ได้รับในปริมาณมากอาจเกิดอาการเฉียบพลัน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน มึนงงและซึม ไอและหายใจขัด หอบ ในกรณีที่ได้รับปริมาณน้อยและเป็นระยะเวลานานจะมีอาการปวดศีรษะ ระคายเคือง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า งานที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายหรือไม่ เห็นว่า คุณสมบัติของสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์แม้ในอุณหภูมิปกติก็ระเหยเป็นไอได้ และเมื่อสัมผัสทางผิวหนังหรือเยื่อบุตาก็ทำให้ผิวหนังหรือดวงตาได้รับอันตราย และหากเข้าสู่ร่างกายโดยทางหายใจหรือทางปากก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายมากน้อยเพียงใด สารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์จึงเป็นวัตถุเคมีที่เป็นอันตรายในตัวของมันเอง เมื่อสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์เป็นสารที่ระเหยได้ในอุณหภูมิปกติ บุคคลที่ทำงานผลิตสารดังกล่าวจึงอาจได้รับอันตรายตลอดเวลา โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานด้านการผลิตสารเฟอร์ฟูรัลและเฟอร์ฟูริลแอลกอฮอล์ งานของโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายตาม(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีระบบป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุดีเพียงใด และลูกจ้างของจำเลยเคยได้รับอันตรายหรือไม่งานดังกล่าวของจำเลยจึงตกอยู่ในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3(3) ที่จำเลยจะต้องจัดให้ลูกจ้างทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง เมื่อปรากฏว่าจำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงโดยทำงาน 6 วัน เวลาทำงานปกติคือ 8 ถึง 17 นาฬิกา พัก 12 ถึง13 นาฬิกา โจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงทำงานล่วงเวลาวันละ 1 ชั่วโมงซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทุกคนตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเพราะโจทก์ทั้งยี่สิบสามสมยอม จำเลยมิได้ผิดสัญญานั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติตามคำแถลงของโจทก์และจำเลยว่า หากโจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็จะได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวด้วย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share