แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่เป็นลูกจ้างของบริษัทเอ็มไพร์แกรนิต จำกัด ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 วันที่ 23 ธันวาคม 2543 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักเงิน 30,000 บาท 50,850 บาท 66,654 บาท และ 42,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นจำนวน 189,504 บาท ของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของนายสมเกียรติไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน 189,504 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเอ็มไพร์แกรนิต จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 189,504 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อ 2 ย่อหน้าสุดท้ายว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง แต่ทางพิจารณาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงแตกต่างจากฟ้องและเป็นข้อสาระสำคัญ ทั้งโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก และการที่โจทก์ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้คดี เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจรและทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้…” และคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เงินทั้งสี่รายการของโจทก์ร่วมยังไม่ได้อยู่ในความครอบครองดูแลของนายสมเกียรติกรรมการบริษัทของโจทก์ร่วม แต่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เอาเงินไปเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงกระทำความผิดฐานยักยอก หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องไม่ ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลักทรัพย์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกก็ตาม แต่การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และการกระทำความผิดฐานยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ดังกล่าวมาข้างต้นบัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าจัดซื้อและเป็นผู้ช่วยการเงิน แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาคือความผิดฐานยักยอกได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน