คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เข้าไปทำสวนลำไยในที่ดินพิพาท โดยอาศัยสิทธิของ น. โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก น. และจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้ง น. ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองแล้วโดยจ้างให้คนดายหญ้าปีละ 2 ครั้ง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 เนื้อที่ 2 งาน 54 ตารางวา เดิมไม่มีเอกสารสิทธิและนายตาเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาปี 2518 นายตาขายให้โจทก์ในราคา 13,300 บาท โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจจุบัน ในปี 2538 โจทก์ประสงค์จะออกโฉนดที่ดิน จึงพบว่าทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่นางน้อย กันธิยะ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2520 โดยโจทก์ไม่ยินยอม และต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2525 นางน้อยขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโอนขายผิดแปลง ซึ่งความจริงแล้วนางน้อยต้องโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1218 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองและทำประโยชน์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสีย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลชั้นต้น คดีอยู่ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสามสมรู้ร่วมคิดกัน โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 ดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1218 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 กลับคืนให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไป ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม แล้วให้โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2539 จำเลยทั้งสามได้ซื้อที่ดินมาจากนางน้อยโดยจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1218 แล้วต่างได้ครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา แต่นางน้อยจดทะเบียนโอนที่ดินที่ขายให้สลับแปลงกัน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่กันตามความจริงที่ได้ซื้อมาจากนางน้อย แล้วได้ครอบครองทำประโยชน์ มิได้สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ในกรอบสีแดงดำในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.11 (ตรงกับเอกสารหมาย จ.1) ซึ่งมีคำอธิบายแผนที่ไว้ในรายการลำดับที่ 3 ห้ามจำเลยที่ 1 พร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ นายตา และนางน้อยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตาย โจทก์ นายตาและนางน้อยต่างก็ได้รับแบ่งมรดกเป็นที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกันนางน้อยนำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1347 ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 2 งาน 54 ตารางวาให้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2520 และปัจจุบันที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เห็นว่า โจทก์มีพยานมาเบิกความหลายปากแต่มีตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าของนายตา นายตาขายที่ดินพิพาทพร้อมที่ดินอีกหนึ่งแปลงให้โจทก์ในราคา 13,000 บาท ตามหลักฐานการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ตามเอกสารหมาย จ.6 และภาพถ่ายหมาย จ.7 ถึง จ.9 แต่ตามหลักฐานการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 มีระบุเพียงว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากนายตาเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน เพียงแปลงเดียวไม่ใช่ 2 แปลง คำเบิกความของโจทก์จึงขัดแย้งแตกต่างกับหลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทในข้อสาระสำคัญ จึงไม่น่ารับฟัง นอกจากนี้โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านความว่า นางน้อยไปดำเนินการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินของตนเอง โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง ขณะเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินนางน้อย โจทก์ได้ออกไประวังแนวเขตและลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ตามบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางน้อย และนายตาไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การที่โจทก์เข้าไปทำสวนลำไยในที่ดินพิพาทได้ น่าจะเป็นเพราะโจทก์มีที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทและอาศัยความเป็นพี่น้องกันกับนางน้อย ดังนี้ การเข้าไปทำสวนลำใยในที่ดินพิพาทของโจทก์ก็โดยอาศัยสิทธิของนางน้อย โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางน้อยและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว อีกทั้งยังปรากฏว่านางน้อยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองแล้วโดยจ้างให้คนไปดายหญ้าแม้จะเพียงปีละ 2 ครั้ง จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share