คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างทำของไม่ต้องกระทำตามแบบหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพียงแต่ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นก็เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ในรายการเพิ่มเติมมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีการเพิ่มงานมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าราคาค่าก่อสร้างจะต้องเพิ่มขึ้นกว่าราคาเดิมอย่างมาก ประกอบกับเจ้าของห้องชุดที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแบบจะต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์เสียก่อน จึงฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดตามรายการเพิ่มเติมโครงการจริง จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่อโจทก์
งานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดำเนินการเสร็จในเดือนพฤษภาคม2534 แต่เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ บ. ในเมื่อขณะนั้นการก่อสร้างงานส่วนที่ 17 ยังไม่แล้วเสร็จ ย่อมมีเหตุผลอันควรที่โจทก์จะรอส่งมอบงานทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบงานระหว่างโจทก์กับจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการจะเรียกสินจ้างจากจำเลยก็ยังไม่เกิดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า”อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”และสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์จะเกิดขึ้นเมื่อได้ส่งมอบการที่ทำตามมาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “สินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ว่า โจทก์ได้ส่งมอบการที่ทำแก่จำเลยในวันที่ 5 มิถุนายน 2534และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เช่นนี้ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงหาขาดอายุความไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยเสียค่าขึ้นศาลเพียงบางส่วนจำนวน 30,000 บาท ว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 จำเลยจ้างโจทก์สร้างอาคารชุดศรีธนาคอนโดมิเนียม ขนาด 14 ชั้นในราคา 35,500,000 บาท มีกำหนดว่าจะส่งรับการที่ทำนั้นเป็น 17 ส่วนและได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ในระหว่างเวลาที่ทำการก่อสร้างอยู่นั้น จำเลยแก้ไขแบบแปลนขอให้โจทก์ปรับปรุงห้องชุดตั้งแต่ชั้นที่ 2 ถึงที่ 14 คิดเป็นค่าแรงงานและสัมภาระจำนวน 1,586,180 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังจ้างโจทก์ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารชุดคิดเป็นค่าแรงงานและสัมภาระอีกจำนวน 2,734,313 บาท เหตุนี้การที่จ้างจึงไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2533 จำเลยบอกเลิกสัญญาแต่ก็ยังให้โจทก์ทำการต่อไปจนแล้วเสร็จในวันที่ 5 มิถุนายน 2534 โดยไม่ถือเวลาเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา โจทก์เตือนให้จำเลยใช้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระสินจ้างส่วนที่ 17 ที่คงค้างอยู่จำนวน 1,950,000 บาท รวมทั้งค่าปรับปรุงห้องชุดจำนวน 1,586,180บาท และค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 1,069,210 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างจำนวน 4,605,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารชุดตามคำฟ้องแต่ในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้น จำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงห้องชุดจากแบบแปลนเดิม โจทก์ทำเอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำฟ้องขึ้นเองตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อห้องชุด โดยจำเลยมิได้ลงชื่อเป็นคู่สัญญาเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นโจทก์ยังหลอกเบิกเงินล่วงหน้าเป็นค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารชุดไปจากจำเลยจำนวน1,161,100 บาท โดยไม่ได้ทำการก่อสร้างจนจำเลยต้องเอางานนั้นให้บุคคลภายนอกทำ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างส่วนนี้ ทั้งยังต้องคืนสินจ้างส่วนที่รับไปแล้วแก่จำเลย หลังจากบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 9ตุลาคม 2533 แล้วจำเลยต้องเอางานนั้นไปให้บุคคลภายนอกทำจนเสร็จภายในกำหนดเวลา 3 เดือน มิได้ให้โจทก์ทำต่อไปอีก โจทก์เพิ่งฟ้องเรียกสินจ้างเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความโจทก์ไม่ได้เตือนให้จำเลยใช้สินจ้าง จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียงบางส่วนจำนวน 30,000 บาท

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินสินจ้างจำนวน 4,219,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2536) ต้องไม่เกินจำนวน 689,467.88บาท

จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารชุดศรีธนาคอนโดมิเนียมในราคา35,500,000 บาท มีการกำหนดงวดงานออกเป็นส่วน ๆ รวม 17 ส่วน และได้ระบุสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ด้วย ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและแบบแปลนเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นอกจากนั้น จำเลยยังได้ว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารชุดดังกล่าวอีกในราคา 2,734,313 บาท โดยมีการแบ่งงานออกเป็น 13 ส่วน และได้กำหนดสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ เช่นเดียวกัน ตามเงื่อนไขการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.3 จำเลยได้รับมอบอาคารชุดที่โจทก์ก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 16 ส่วนและรับมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่โจทก์ทำแล้วเสร็จจำนวน 9 ส่วนและจำเลยได้จ่ายสินจ้างเพื่อการงานแต่ละส่วนในเวลารับเอางานแต่ละส่วนนั้นแล้ว แต่โจทก์ก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว ส่วนที่ 17 และงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนที่ 10 ถึงที่ 13 ไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยจึงได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2533ตามหนังสือของทนายความเอกสารหมาย จ.5 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ก่อสร้างอาคารชุดศรีธนาคอนโดมิเนียมส่วนที่ 17 จนแล้วเสร็จหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ ภาระการพิสูจน์ต้องตกแก่โจทก์แต่โจทก์ไม่นำบุคคลภายนอกหรือคนงานที่ทำการก่อสร้างอาคารส่วนที่ 17 มาเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์เป็นฝ่ายก่อสร้างงานส่วนดังกล่าวจนแล้วเสร็จส่วนจำเลยมีนางบัวคำ บุญกมล มาเบิกความว่า การก่อสร้างของโจทก์มีปัญหาภายในด้วยเหตุคนงานละทิ้งงานเพราะโจทก์ไม่จ่ายค่าจ้างแต่คนงานของโจทก์ก็ยังคงพักอาศัยอยู่ที่ใต้ถุนโรงจอดรถของจำเลยเรื่อยมาในเมื่อโจทก์เกิดปัญหาในเรื่องการเงินดังกล่าว โจทก์จะมีความสามารถก่อสร้างงานส่วนที่ 17 จนแล้วเสร็จได้อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า โจทก์เป็นฝ่ายก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าวส่วนที่ 17จนแล้วเสร็จนั้น เห็นว่า ตามความเข้าใจปกติธรรมดาแล้วงานก่อสร้างอาคารชุดตามคำฟ้องทั้งหมดย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ผู้รับจ้างที่จะต้องดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างที่มีต่อจำเลยจนแล้วเสร็จเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างเป็นฝ่ายกล่าวอ้างโต้แย้งว่าการมิได้เป็นไปตามสัญญาและงานก่อสร้างส่วนที่ 17 เป็นการงานส่วนที่จำเลยได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกมาดำเนินการเองจนแล้วเสร็จ ดังนี้ จำเลยย่อมต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความจริงตามที่กล่าวอ้างนั้น การที่จำเลยนำนางบัวคำซึ่งเป็นเพียงลูกค้าที่ซื้อห้องชุดจากจำเลยมาเบิกความในข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้น พยานอาจจะเป็นเพียงได้ทราบเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์จากการเล่าลือกันเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่านางบัวคำจะรู้ความจริงภายในกิจการของโจทก์ได้นอกจากนี้ที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาของจำเลยและนำสืบว่าจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง และศาลได้พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยจำนวนหนึ่งจำเลยขอบังคับคดีต่อโจทก์ก็ปรากฏว่าไม่อาจนำยึดทรัพย์ของโจทก์ออกขายทอดตลาดได้ เพราะโจทก์ไม่มีทรัพย์ใดที่จะให้ยึดได้ดังนั้น โจทก์จะมีความสามารถก่อสร้างงานส่วนนี้ให้เสร็จได้อย่างไรนั้นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของจำเลยเอง หาอาจจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ไม่ ยิ่งไปกว่านั้นในการตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ของจำเลยเอง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงโดยสรุปว่าจำเลยได้ว่าจ้างลูกจ้างของโจทก์ก่อสร้างงานที่ค้าง (งานส่วนที่ 17) จนแล้วเสร็จโดยจำเลยจ้างเหมาเฉพาะค่าแรงงาน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จำเลยสั่งมาเองส่วนค่าจ้างจ่ายไปจำนวนเท่าใดไม่ทราบมีการบันทึกค่าแรงงานไว้ด้วยแต่ไม่ได้อ้างส่งศาล ช่างชุดที่ว่าจ้างนั้นจะมีชื่ออะไรบ้างจำเลยจำไม่ได้หัวหน้าคนงานและผู้ควบคุมงานจะชื่ออะไรจำเลยก็จำไม่ได้ ดังนี้ เห็นว่า ในการก่อสร้างอาคารชุดศรีธนาคอนโดมิเนียมในส่วนที่โต้เถียงกันนี้จะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนนับล้านบาท แต่จำเลยซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างด้วยตนเอง กลับไม่ทราบในเรื่องสำคัญเหล่านี้เลยทั้ง ๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่มุ่งพิสูจน์ความจริงตามข้ออ้างของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามที่อ้าง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่างานก่อสร้างส่วนที่ 17 เป็นงานส่วนที่จำเลยได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกมาดำเนินการเองจนแล้วเสร็จ เชื่อว่างานส่วนที่ 17 นี้โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดศรีธนาคอนโดมิเนียมตั้งแต่ชั้นที่ 2 ถึงที่ 14 ตามรายงานเพิ่มเติมโครงการศรีธนา 2 เอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่างานก่อสร้างเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองฝ่ายเดียวจำเลยไม่เคยยอมรับเอกสารดังกล่าว ถ้าหากจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดดังกล่าวแล้ว โจทก์จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสั่งงานจากจำเลยมาแสดงแต่ที่โจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานหรือใบสั่งงานมาแสดงได้ก็เพราะโจทก์รับจ้างจากเจ้าของห้องชุดแต่ละห้องเองไม่เกี่ยวกับจำเลยนั้น เห็นว่า ในการจ้างทำของนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มิได้บัญญัติว่าสัญญาจ้างทำของนั้นจะต้องกระทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แต่อย่างใดไม่ เพียงแต่ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นก็เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้น แม้ตามเอกสารหมาย จ.4 จะไม่มีลายมือชื่อของจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างก็ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์กระทำการดังกล่าวหรือไม่ได้นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงความเป็นจริงตามธรรมดาที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วจะเห็นได้ว่า ในการจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยคดีนี้มีการกำหนดแบบแปลนพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่จะใช้ตกแต่งภายในห้องชุดแต่ละห้องไว้โดยเฉพาะรวมทั้งวงเงินค่าจ้างก็เป็นจำนวนที่แน่นอนไว้ด้วย เมื่อพิเคราะห์ดูรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีการเพิ่มงานมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าราคาก่อสร้างจะต้องเพิ่มขึ้นกว่าราคาเดิมอย่างมากย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะเป็นผู้ก่อขึ้นเพราะหาประโยชน์อันใดต่อโจทก์ไม่ได้เลย มีแต่จะทำให้โจทก์มีภาระเพิ่มขึ้นและเกิดการขาดทุนอีกประการหนึ่งในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของโครงการย่อมสามารถที่จะหาประโยชน์เพิ่มเติมจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดให้มีคุณภาพสูงขึ้นและคิดราคาจากผู้ซื้อสูงขึ้นได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับหากจำเลยจะยินยอมให้โจทก์เสาะแสวงหาผลประโยชน์อันมากมายนี้จากธุรกิจของตน จำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเจ้าของห้องชุดที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแบบจะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยเสียก่อน ดังนี้ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวจึงฟังได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดตามรายงานการเพิ่มเติมโครงการศรีธนา 2 เอกสารหมาย จ.4 จริง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่อโจทก์

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์เบิกความว่าโจทก์ก่อสร้างอาคารชุดศรีธนาคอนโดมิเนียมส่วนงวดที่ 17แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2534 ตามภาพถ่ายอาคารศรีธนาคอนโดมิเนียมหมาย จ.6 และโจทก์อ้างนายบรรทูล จอมขวัญใจ ผู้รับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารชุดดังกล่าวซึ่งนายบรรทูลเบิกความว่า พยานได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจำเลยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) แล้วนั้น เห็นว่า จากการที่นายบรรทูลพยานโจทก์เบิกความตอบคำซักถามของทนายโจทก์ว่า พยานไม่ได้รับจ้างจากจำเลยโดยตรง โจทก์รับรองกับพยานว่าจะจ่ายค่าจ้างให้เอง แม้จำเลยจะไม่จ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาก็ตาม และโจทก์จ่ายค่าจ้างให้ในงวดสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 เป็นเงิน 300,000 บาทเศษ จากคำเบิกความของนายบรรทูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารชุดดังกล่าว นายบรรทูลรับจ้างจากโจทก์ หาใช่รับจ้างจากจำเลยโดยตรงดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น การส่งมอบงานทั้งงานก่อสร้างอาคารชุดส่วนที่ 17 และงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อจำเลยจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา แม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายบรรทูลว่างานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดำเนินการเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2534แต่ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายบรรทูลในเมื่อขณะนั้นการก่อสร้างงานส่วนที่ 17 ยังไม่แล้วเสร็จย่อมมีเหตุผลอันควรที่โจทก์จะรอส่งมอบงานทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบงานระหว่างโจทก์กับจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการจะเรียกสินจ้างจากจำเลยก็ยังไม่เกิดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า”อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”และสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์จะเกิดขึ้นเมื่อได้ส่งมอบการที่ทำตามมาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบการที่ทำแก่จำเลยในวันที่ 5 มิถุนายน 2534และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เช่นนี้ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงหาขาดอายุความไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share