แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับการแต่งตั้งโดยอำนาจของกฎหมาย ให้ปฏิบัติราชการของกรมแรงงานตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการดังกล่าวมิฉะนั้นมีความผิดและมีโทษทางอาญา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๑๔ คน ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า จำเลยทั้ง ๑๔ คน เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่พนักงานขับรถได้ค่าจ้างเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์รับจำเลยทุกคนกลับเข้าทำงานหรือจ่ายเงินค่าเสียหายให้จำเลย ความจริงจำเลยทั้ง ๑๔ คนไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์แต่เป็นหุ้นส่วนกัน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ยกคำร้องของจำเลยทุกคน การแจ้งความดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๓๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่เป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทุกคนจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘ กำหนดให้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย มาตรา ๓๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มาตรา ๔๑ บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและมีอำนาจและหน้าที่อย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในบทมาตราดังกล่าว หากฝ่ายนายจ้างก็ดีฝ่ายลูกจ้างก็ดี ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นจะต้องมีโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๒ และมาตรา ๑๓๓ ดังนี้จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีสำนักงานอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้รับแต่งตั้งโดยอำนาจของกฎหมายให้ปฏิบัติราชการของกรมแรงงานตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นมีความผิด เช่นนี้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปความ