แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้ประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการดังกล่าวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของ อ. ผู้ไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นจะถือว่าจำเลยมีเจตนาประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38, 79
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 200,000 บาท ทางนำสืบและคำรับของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 150,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งรับฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของนายอนุรัตน์ ทำการขายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ตามตลาดนัดในเมืองพิษณุโลก โดยนายอนุรัตน์ได้ไปยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์บริเวณตลาดนัดคนเดิน หมู่ที่ 7 ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ตามใบรับ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยจำหน่ายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่ร้านแผงลอยตลาดนัดคนเดิน ถนนสังฆบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พร้อมยึดแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ 177 แผ่น เป็นของกลางซึ่งสถานที่จำหน่ายอยู่คนละแห่งกับที่ระบุในใบรับข้างต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้ประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการดังกล่าวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของนายอนุรัตน์ ผู้ไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ อีกทั้งเมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยได้แสดงใบรับที่แสดงว่านายอนุรัตน์นายจ้างได้ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูทันที และตามหนังสือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ที่ พล 0031/569 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ระบุว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ขอเรียนให้ทราบว่าร้านบริเวณตลาดนัดวังทองหมู่ที่ 1 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และร้านบริเวณตลาดนัดคนเดินวัดจันทร์ หมู่ที่ 7 ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นคำขออนุญาตแล้วทั้งสองแห่ง ถือว่าไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนั้นปรากฏจากแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ผู้อำนวยการสำนักงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตอบข้อหารือตาม ข้อ 5 ระบุว่า “ใบรับ” มิใช่ใบอนุญาตและมิใช่ใบแทนใบอนุญาต แต่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าผู้ประกอบการมีเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หากมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจก็ใช้ใบรับนี้แสดงให้ดูว่าได้ไปยื่นขออนุญาตแล้ว ถือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ดังนี้ แม้หมายเหตุในใบรับ ระบุว่า “ผู้ประกอบกิจการต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนจึงจะประกอบกิจการได้” ทำให้เห็นว่ายังห้ามผู้ประกอบกิจการที่เพียงแต่ยื่นคำขออยู่ แสดงว่าความเห็นดังกล่าวไม่ถูกต้องและนายอนุรัตน์นายจ้างของจำเลยจะยังไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม แต่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวโดยแสดงใบรับให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมดูด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีประสบการณ์กระทำทำนองนี้มาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าปฏิบัติตามนั้นได้ ดังนั้น จะถือว่าจำเลยมีเจตนาประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตหาได้ไม่ สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า นายอนุรัตน์ยื่นคำขอใบอนุญาตเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน