แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) สำหรับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ป. เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยผู้ตาย จึงอนุญาตให้ ป. เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ
ระหว่างพิจารณา นางสมควร มารดานายระบิล ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นเป็นเงิน 93,150 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 720,000 บาท รวมเป็นเงิน 813,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมเรียกร้องมานั้นเคลือบคลุมและสูงเกินความจริง โดยค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 45,000 บาท แต่จำเลยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นและยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 18 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 30 ปี และปรับ 2,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม และจำเลยให้การรับสารภาพความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นมีกำหนด 20 ปี และปรับ ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นเงิน 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงินจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2550 (วันยื่นคำร้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมด้วย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 อีกฐานหนึ่ง ให้ลงโทษปรับ 450 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 แล้ว คงปรับ 300 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 คงเหลือโทษจำคุกความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีกำหนด 12 ปี ปรับฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1,000 บาท และปรับฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือชุมชน 300 บาท รวมเป็นปรับ 1,300 บาท ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่สั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องว่าจำเลยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ขอให้จำหน่ายคดีอาญาและหมายเรียกนางปราณี ทายาทของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ในคดีส่วนแพ่ง โจทก์รับว่าเป็นความจริง ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนฟ้องว่าหลังจากจำเลยถึงแก่ความตายศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้นางปราณีเป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาคำสั่งท้ายคำร้อง และโจทก์ร่วมกับนางปราณีตกลงกันในคดีส่วนแพ่ง โดยนางปราณียินยอมชำระเงิน 300,000 บาท ให้แก่นางสมควรและโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมประสงค์จะถอนฟ้องในส่วนคดีแพ่งต่อศาลฎีกา และไม่ขอดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยและทายาทผู้รับมรดกของจำเลยอีกต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีในส่วนคดีอาญาเสียจากสารบบความ ส่วนในคดีแพ่งเมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ร่วมว่านางปราณีเป็นทายาทโดยธรรม ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ต่อมาโจทก์ร่วมและนางประณีตกลงในคดีส่วนแพ่งได้จึงขอถอนฟ้องในคดีส่วนแพ่ง ปรากฏว่าท้ายคำร้องดังกล่าวนางปราณีลงลายมือชื่อไว้ด้วย และรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์และนางปราณีแถลงร่วมกันว่านางปราณีชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางปราณีเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยผู้ตาย จึงอนุญาตให้นางปราณีเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และเมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ร่วมว่าต้องการถอนฟ้องคดีส่วนแพ่งเพราะสามารถตกลงกันได้แล้วและในคำร้องดังกล่าวมีนางปราณีลงลายมือชื่อไว้ด้วยแสดงว่าไม่คัดค้าน โดยการถอนฟ้องชั้นฎีกาไม่สามารถกระทำได้เพราะต้องถอนฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่ถือว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งในชั้นฎีกานั่นเอง จึงจำหน่ายคดีในส่วนแพ่งออกจากสารบบความเสียด้วย