คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 มาตรา 16,24โดยบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นภายในเขตอุทยานแห่งชาติ อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 16(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิด แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุให้ลงโทษด้วย และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2538 เวลากลางวันจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้โดแหลม อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ภายในเขตป่าไชยครามและป่าวัดประดู่แปลงที่สอง ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยเลื่อยออกเป็นเหลี่ยมและแผ่น ทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมจำนวน25 แผ่น ปริมาตร 4.3 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันมีไม้โดแหลมแปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 6, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16, 24ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 31วรรคสอง (2)) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง,48 วรรคหนึ่ง, 69, 73 วรรคสอง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16, 24 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 3 ปีฐานแปรรูปไม้จำคุก 3 ปี ฐานมีไม้แปรรูปจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษข้อหาตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาตรา 16, 24 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16,24 โดยบรรยายฟ้องมาในข้อ 1 ว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ดินป่าไชยครามและป่าวัดประดู่แปลงที่สองในท้องที่ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ในฟ้องข้อ 2 ก. โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้โดแหลม ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไชยครามและป่าวัดประดู่แปลงที่สอง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ภายในเขตอุทยานแห่งชาติอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 16(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุให้ลงโทษมาด้วย และจำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษข้อหาดังกล่าวมานั้นจึงไม่ชอบ และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 69 ด้วย ก็ไม่ถูกต้องอีกเช่นกันเพราะความผิดดังกล่าวเป็นกรณีมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายซึ่งโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง นอกจากนี้ความผิดฐานทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง (2) ระวางโทษสูงกว่าพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคสอง (2) ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทหนัก ปัญหาทั้งหมดดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เฉพาะข้อหาทำไม้ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ. 2504 มาตรา 16, 24นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share