คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมรับว่าเงินประกันการเช่าในวันยื่นแบบเสนอราคา เงินค้ำประกันการทำสัญญาและเงินค่าเช่าภายหลังสัญญาเป็นเงินของจำเลยร่วม กับมิได้ปฏิเสธถึงเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่จำเลยอ้างว่าเป็นเงินของจำเลยร่วม จึงต้องฟังว่าเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่จำเลยชำระให้โจทก์เป็นเงินของจำเลยร่วม ส่วนหนังสือขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่านั้นโจทก์นำสืบสนับสนุนว่า จำเลยร่วมมีหนังสือถึงโจทก์ขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าอ้างว่ามอบอำนาจให้จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์จึงแจ้งจำเลยร่วมว่าได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว โดย ก. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วมเบิกความรับว่าได้รับเอกสารที่โจทก์แจ้งจริง ทั้งมิได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของหนังสือขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าการที่จำเลยร่วมนำสืบว่าไม่เคยมีหนังสือขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าถึงโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ที่จำเลยร่วมนำสืบและฎีกาอ้างว่า จำเลยร่วมทำท่าขึ้นทรายในที่ดินที่เช่าและออกเงินค้ำประกันการทำสัญญาเช่าให้จำเลย กับยินยอมให้จำเลยกู้เงินโดยไม่ทำหลักฐานการกู้เพื่อชำระค่าประมูล ค่าเช่าภายหลังสัญญา เพราะจำเลยร่วมได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยเป็นค่าจ้างให้ขนทรายในอัตรา 100 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร โดยวันหนึ่งขนทรายไม่ต่ำกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากบริษัทของจำเลยทำสัญญาขายทรายให้บริษัท ว. ดังนี้ แม้หากจะฟังว่าจำเลยร่วมรับจ้างขนทรายให้บริษัทของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยผู้ว่าจ้างเพียงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าจ้างให้จำเลยร่วมผู้รับจ้างเท่านั้น เป็นหน้าที่ของจำเลยร่วมต้องทำท่าขึ้นทรายเพื่อขนทรายให้บริษัทจำเลยตามที่รับจ้าง เมื่อการเช่าที่ดินตามฟ้อง เป็นการเช่าเพื่อทำท่าขึ้นทรายและจำเลยร่วมเข้าใช้ประโยชน์โดยการทำท่าขึ้นทราย 3 ท่า ในที่ดินที่เช่าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยร่วมเพื่อขนทรายไปส่งตามที่ว่าจ้าง และเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ตามสัญญาเป็นเงินของจำเลยร่วมทั้งสิ้นข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยร่วมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งยิ่งกลับทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์แทนจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ จึงเป็นเพียงนำสืบความจริงว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการเพื่อให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิดตามสัญญาแทนจำเลยเท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าที่ดินแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2541 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์เนื้อที่ 4,164 ตารางเมตร เพื่อทำท่าขึ้นทราย มีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี ค่าเช่า 4,212,000 บาท ชำระค่าเช่าแล้วในวันทำสัญญาเป็นเงิน 1,263,600 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระเป็นงวดรายเดือนรวม 12 เดือน เดือนละ 245,700 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่ารวม 9 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 2,211,300 บาท นอกจากนี้จำเลยยังทำให้สันทำนบเขื่อนรั้วเหล็กและถนนที่อยู่ในพื้นที่ที่เช่าชำรุดเสียหายคิดเป็นเงิน 975,170 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,186,470 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดตามสัญญา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 421,200 บาท ให้แก่โจทก์ คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาอีกจำนวน 2,765,270 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,765,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ตามฟ้องจริงโดยกระทำในฐานะตัวแทนเชิดของบริษัทเจนกฤชศรี จำกัด ซึ่งเป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ แต่ได้กลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาเช่าที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ และบริษัทเจนกฤชศรี จำกัด ประกอบกิจการท่าขึ้นทรายเพียงผู้เดียว จำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งโจทก์ก็ทราบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สันทำนบเขื่อนรั้วเหล็กและถนนตามฟ้องไม่ได้ชำรุดเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเจนกฤชศรี จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่เคยแต่งตั้งหรือเชิดให้จำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมเข้าทำสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องกับโจทก์ และไม่มีความจำเป็นใช้พื้นที่ที่เช่าเพื่อทำท่าขึ้นทราย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงิน 2,290,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ในส่วนของจำเลยให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 2,765,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยร่วมให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท และใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นายกฤชและนางชูศรี หรือนางชุติกานต์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2541 จำเลยโดยนายกฤชได้ยื่นแบบใบเสนอราคาเช่นที่ดินตามฟ้องเพื่อทำท่าขึ้นทรายต่อโจทก์วางหลักประกันซองเป็นเงิน 50,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.16 จำเลยประมูลการเช่าได้ วันที่ 10 เมษายน 2541 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องกับโจทก์มีกำหนดเวลาการเช่า 1 ปี ตามเอกสารหมาย จ.3 ในวันทำสัญญาจำเลยชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเงิน 1,263,600 บาท และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิค้ำประกันการเช่าของจำเลยต่อโจทก์วงเงิน 421,200 บาท โดยเงินประกันการเช่าเพื่อยื่นใบเสนอราคาค่าเช่าที่ดินและเงินค้ำประกันเป็นเงินของจำเลยร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยร่วมนำตู้คอนเทนเนอร์ รถแบ็กโฮ รถบรรทุกเข้าไปในที่ดินที่เช่า และทำท่าขึ้นทราย 3 ท่า ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยร่วม จากนั้นบรรทุกทรายจากท่าขึ้นทรายดังกล่าวไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำเลยชำระเงินค่าเช่าให้โจทก์ 2 เดือน ซึ่งเป็นเงินของจำเลยร่วมแล้วจำเลยผิดนัดค้างชำระค่าเช่าโจทก์ 9 เดือน เป็นเงิน 2,211,300 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้โจทก์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยร่วมประการแรกว่า จำเลยร่วมให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์โดยจำเลยมิได้เปิดเผยให้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า จำเลยร่วมประสงค์สจะสร้างท่าขึ้นทรายในที่ดินที่เช่าจึงเชิดให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยร่วม และจำเลยร่วมออกเงินประกันการเช่าในวันยื่นแบบใบเสนอราคา เงินค่าเช่าล่วงหน้า เงินที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ออกหนังสือค้ำประกันการเช่าให้จำเลยและเงินค่าเช่าภายหลังทำสัญญา นอกจากนี้จำเลยร่วมให้จำเลยนทำหนังสือลงวันที่ย้อนหลังตามเอกสารหมาย จ.13 หรือ ล.20 มีข้อความระบุว่า จำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมในการทำสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องกับโจทก์และเงินค่าใช้จ่ายในการยื่นซองประมูลเพื่อเช่าที่ดิน เงินค่าเช่าล่วงหน้า เงินค้ำประกันในวันทำสัญญา เป็นเงินของจำเลยร่วมซึ่งจำเลยนำไปชำระแก่โจทก์กับมอบอำนาจให้จำเลยร่วมดำเนินการต่างๆ แทนจำเลย ภายหลังโจทก์มอบพื้นที่ที่เช่าให้จำเลย จำเลยร่วมเข้าทำประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว ต่อมาจำเลยร่วมมีหนังสือยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยร่วมมอบอำนาจให้จำเลยเป็นตัวแทนเข้าดำเนินการยื่นซองประกวดราคาและทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยร่วมในฐานะตัวการขอให้โจทก์เปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่าจากจำเลยเป็นจำเลยร่วมและยินดีชำระเงินที่ค้างชำระแก่โจทก์ โดยจำเลยร่วมอ้างเอกสารหมาย จ.13 ต่อโจทก์ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า จำเลยร่วมรับว่าเงินประกันการเช่าในวันยื่นแบบเสนอราคา เงินค้ำประกันการทำสัญญาและเงินค่าเช่าภายหลังสัญญาเป็นเงินของจำเลยร่วม กับมิได้ปฏิเสธถึงเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่จำเลยอ้างว่าเป็นเงินของจำเลยร่วม จึงต้องฟังว่าเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่จำเลยชำระให้โจทก์เป็นเงินของจำเลยร่วม ส่วนหนังสือขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่านั้นโจทก์นำสืบสนับสนุนว่า จำเลยร่วมมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.12 ถึงโจทก์ขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าอ้างว่ามอบอำนาจให้จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์จึงแจ้งจำเลยร่วมว่าได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 โดยนายกฤชกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วมเบิกความรับว่าได้รับเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 จริง ทั้งมิได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารหมาย จ.12 การที่จำเลยร่วมนำสืบว่าไม่เคยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.12 ถึงโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ที่จำเลยร่วมนำสืบและฎีกาอ้างว่า จำเลยร่วมทำท่าขึ้นทรายในที่ดินที่เช่าและออกเงินค้ำประกันการทำสัญญาเช่าให้จำเลย กับยินยอมให้จำเลยกู้เงินโดยไม่ทำหลักฐานการกู้เพื่อชำระค่าประมูล ค่าเช่าภายหลังสัญญา เพราะจำเลยร่วมได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยเป็นค่าจ้างให้ขนทรายในอัตรา 100 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร โดยวันหนึ่งขนทรายไม่ต่ำกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากบริษัทของจำเลยทำสัญญาขายทรายให้บริษัท วี.เอส.เค ร่วมค้า จำกัด เห็นว่า แม้หากจะฟ้องว่าจำเลยร่วมรับจ้างขนทรายให้บริษัทของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยผู้ว่าจ้างเพียงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าจ้างให้จำเลยร่วมผู้รับจ้างเท่านั้น เป็นหน้าที่ของจำเลยร่วมต้องทำท่าขึ้นทรายเพื่อขนทรายให้บริษัทของจำเลยตามที่รับจ้าง เมื่อการเช่าที่ดินตามฟ้องเป็นการเช่าเพื่อทำท่าขึ้นทรายและจำเลยร่วมเข้าใช้ประโยชน์โดยการทำท่าขึ้นทราย 3 ท่า ในที่ดินที่เช่าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยร่วมเพื่อขนทรายไปส่งตามที่ว่าจ้าง และเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ตามสัญญาเป็นเงินของจำเลยร่วมทั้งสิ้น ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยร่วมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังทั้งยิ่งกลับทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 แทนจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์พิจารณาเอกสารเรื่องขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่าจากจำเลยเป็นจำเลยร่วมตามเอกสารหมาย จ.12 และมีความเห็นตามเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 3.2 ว่า จำเลยร่วมเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 แต่โจทก์กลับปฏิเสธการเป็นตัวการของจำเลยร่วม โดยให้ความเห็นว่าควรให้จำเลยร่วมเช่าช่วงตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นการที่โจทก์ประสงค์จะผูกพันกับจำเลยโดยตรง เห็นว่า เหตุที่โจทก์ไม่พิจารณาเปลี่ยนชื่อผู้เช่าเป็นเพราะจำเลยไม่เคยเปิดเผยต่อโจทก์ว่าทำสัญญากับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยร่วมประกอบกับชื่อนางชูศรีกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วมตามหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลที่จำเลยร่วมอ้างต่อโจทก์ไม่ตรงกับชื่อตัวและสกุลที่ลงนามในหนังสือขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าตามเอกสารหมาย จ.12 เพราะใช้ชื่อ “นางชุติการต์ ทั้งแม้โจทก์จะเพิ่งทราบว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการในการทำสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ก็เป็นสิทธิของโจทก์จะเลือกฟ้องตัวการหรือตัวแทนให้รับผิดตามสัญญาได้ เพราะถึงอย่างไรจำเลยในฐานะตัวแทนไม่จำต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์อยู่แล้ว
จำเลยร่วมฎีกาปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารที่ได้ทำสัญญากับโจทก์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า แม้จำเลยร่วมจะมิได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยร่วมจึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ จึงเป็นเพียงนำสืบความจริงว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการเพื่อให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิดตามสัญญาแทนจำเลยเท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.3 แต่อย่างใดไม่
ที่จำเลยร่วมฎีกาประการสุดท้ายว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมและจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายใดๆ แก่โจทก์ เห็นว่า ปัญหาคำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ มิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อจำเลยร่วมมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยร่วมจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์มีนายปรัชญา และนายประเสริฐ พนักงานของโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่าภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย นายปรัชญาได้รับคำสั่งให้สำรวจความเสียหายในที่ดินที่เช่า จึงให้นายประเสริฐตรวจสอบและประเมินค่าเสียหาย พบว่ารั้วเหล็กและสันทำนบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียหายเพราะมีการถอดรั้วเหล็กของโจทก์ออกและทำแนวรั้วเหล็กใหม่เพื่อทำท่าขึ้นทรายจึงทำให้เกิดความเสียหายแก่สันทำนบเขื่อน และถนนที่อยู่ในที่เช่าได้รับความเสียหายจากรถบรรทุกขนทรายวิ่งผ่านค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 975,170 บาท ตามรายละเอียดและแผนผังเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 เห็นว่า แนวรั้วเหล็กตาข่ายและสันทำนบตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ล.ร.1 เสียหายจริงจากการที่จำเลยร่วมทำท่าขึ้นทราย 3 ท่า ซึ่งโจทก์จำเป็นต้องก่อสร้างรั้วเหล็กตาข่ายขึ้นใหม่และสร้างสันทำนบเสริมแทนของเดิมที่เสียหายซึ่งโจทก์มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการสร้างรั้วเหล็กและสันทำนบดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน จำเลยร่วมไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างเกี่ยวกับค่าเสียหายทั้ง 2 ส่วนนี้ ที่จำเลยร่วมฎีกาอ้างว่านายนิทัศน์เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า มีแต่ความเสียหายต่อแนวอิฐเสริมเขื่อน 2 บล็อกความเสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ตามภาพถ่ายหมาย ล.ร.1 ภาพที่ 9 และ 10 เป็นเพียงคำถามที่ทนายจำเลยร่วมถามนายนิทัศน์ ซึ่งนายนิทัศน์ตอบว่าไม่มั่นใจ แสดงว่านายนิทัศน์มิได้เบิกความยืนยันว่าความเสียหายทั้งหมดมีเพียงเท่าที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ล.ร.1 ทั้งสัญญาเช่าที่ดินข้อ 5 ระบุว่า “…เมื่อสัญญาสิ้นสุด หากปรากฏว่าพื้นที่บริเวณที่เช่า…ชำรุดเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานของผู้เช่า ผู้เช่าจะต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี โดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งสิ้น” ซึ่งรายละเอียดค่าสร้างสันทำนบ 94,880 บาท และค่ารั้วเหล็กตาข่าย 228,219 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นจำนวนพอสมควรจึงกำหนดให้ตามขอ แต่ที่โจทก์เรียกร้องค่าสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 514,895 บาท นั้น แม้จะปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.ร.1 ว่า ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินที่เช่าเสียหายจากการใช้งานของจำเลยร่วม แต่โจทก์มีส่วนทำให้ถนนชำรุดเสียหายด้วยเพราะนายประเสริฐเบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านรับว่ารถบรรทุกไม้ซุงของโจทก์ใช้ถนนดังกล่าว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ 350,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องค่าประตูเป็นเงิน 10,000 บาท นายประเสริฐเบิกความยืนยันว่าประตูตามภาพถ่ายหมาย ล.ร.1 ภาพที่ 1 เป็นประตูใหม่ที่ทำทดแทนประตูเก่าซึ่งเสียหาย ศาลฎีกาพิจารณาภาพดังกล่าวแล้วเป็นประตูเหล็กตาข่ายซึ่งกว้างและสูงพอที่รถบรรทุกวิ่งเข้าออกได้ จึงกำหนดให้ 10,000 บาท ตามโจทก์ขอ สำหรับค่าควบคุมดำเนินการ 15% ของค่าใช้จ่ายที่โจทก์ขอมา แม้โจทก์จะมีพนักงานของโจทก์ควบคุมดูแลการซ่อมแซมความเสียหายของรั้วเหล็กตาข่าย สันทำนบและถนนดังจำเลยร่วมอ้างโจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยร่วมได้ เพราะถ้าจำเลยร่วมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในที่ดินที่เช่า โจทก์ย่อมใช้พนักงานของโจทก์ไปทำประโยชน์อย่างอื่น แต่โจทก์ไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงกำหนดค่าควบคุมดำเนินการในอัตราดังกล่าวจึงสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 50,000 บาท รวมเงินค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดทั้งสิ้น 733,200 บาท ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิชำระแก่โจทก์ออก คงเหลือเงินที่จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ 2,523,199 บาท ฎีกาของจำเลยร่วมฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 2,523,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1″

Share