แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหน่วยงานฯให้กองปราบปรามมีเขตอำนาจรับผิดชอบในความผิดอาญาทั่วราชอาณาจักร ดังนี้ พันตำรวจเอก ส. ซึ่งรับราชการประจำกองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 การที่กรมตำรวจวางระเบียบว่ากองปราบปรามจะสอบสวนความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือรองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็เพื่อเป็นการแบ่งแยกความรับผิดชอบในการสอบสวนคดีเท่านั้นเมื่อพันตำรวจเอก ส. ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้แล้ว แม้จะได้รับอนุญาตภายหลัง การสอบสวนตั้งแต่ต้นก็เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค และห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
นางกรรณิการ์ สังสิทธิวงศ์ ผู้เสียหาย ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(3)และ (5) จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าพันตำรวจเอกสมพงษ์ บุญธรรม พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 1กองปราบปราม ได้รับแจ้งความร้องทุกข์และได้ทำการสอบสวนไปบ้างแล้วจึงขออนุญาตทำการสอบสวนต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางการสอบสวนก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่พันตำรวจเอกสมพงษ์ บุญธรรม สอบสวนไปนั้น จึงเป็นการไม่ชอบถือว่าไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) บัญญัติไว้ว่าบัญญัติไว้ว่า “พนักงานสอบสวนหมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน” และมาตรา 18 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า “สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนหรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้”คดีนี้ปรากฏว่าเหตุเกิดที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อยและแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกันขณะสอบสวนคดีนี้ พันตำรวจเอกสมพงษ์ บุญธรรม รับราชการประจำกองกำกับการ 1 กองปรามปราม ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2515 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยพ.ศ. 2508 ออกประกาศเรื่อง กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการในกรมตำรวจ ข้อ 8 กำหนดว่า”กองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามบทกฎหมายอื่น อันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร” ดังนี้ พันตำรวจเอกสมพงษ์บุญธรรม จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แต่ที่กรมตำรวจวางระเบียบไว้ว่า”กองปราบปรามและกองตำรวจสันติบาลจะทำการสอบสวนความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือรองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวน” นั้น ก็เพื่อเป็นการแบ่งแยกความรับผิดชอบในการสอบสวนคดีมิให้สับสนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเรื่องภายในของกรมตำรวจ ดังนั้น เมื่อพันตำรวจเอกสมพงษ์บุญธรรม ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้แล้วแม้จะได้รับอนุญาตภายหลังจากที่ได้ทำการสอบสวนไปบ้างแล้วการสอบสวนตั้งแต่ต้นก็เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน