คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ 2 ครั้งในวันที่ 16 และวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือถึงวันที่ 16 มีนาคม 2531
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินค้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์ขอก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ขอมา ศาลแรงงานก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิได้
จำเลยนำสืบพยานเอกสารโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานโดยเฉพาะจึงหาขัดต่อประมวลกฎมหายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคแรกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ โดยอ้างว่าโจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถทำงานให้จำเลยได้และจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ความจริงโจทก์ยังมีสุขภาพสมบูรณ์ดี การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๔๔๖,๗๖๐ บาท และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ ๒,๑๙๐ บาท กำหนดจ่ายเงินเดือนในวันที่ ๑๖ และสิ้นเดือนของทุกเดือนขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย กับจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๐ โดยมิได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ จำเลยให้โจทก์พ้นหน้าที่เนื่องจากโจทก์มีสุขภาพไม่ดี การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑,๑๖๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน เป็นเงินเดือนละ ๒,๑๙๐ บาท มิได้ตกลงกันเป็นรายวัน การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ ๑๖ และวันสิ้นเดือนเป็นเพียงเพื่อความสะดวกทางบัญชี ทั้งจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้แต่อย่างใด ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วง หน้าจำนวน ๑,๑๖๘ บาท จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ในเรื่องระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างของจำเลยนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยขอแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ทุก ๆ วันที่ ๓๐ ของเดือน ๆ ใดมี ๓๑ วัน ก็ให้จ่ายในวันที่ ๓๑ ของเดือน แต่การจ่ายเงินจำเลยจะจ่ายให้เป็น ๒ ครั้งโดยจ่ายให้ในวันที่ ๑๖ และวันที่ ๓๐ หรือวันที่ ๓๑ ของเดือนซึ่งเป็นวันสิ้นเดือนจากคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องฟังว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เดือนละ ๒ ครั้งคือวันที่ ๑๖ และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า คือ ถึงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๑ และแม้จำเลยจะมิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์จะได้รับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเป็นจำนวนเพียงนั้น ศาลแรงงานกลางย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายสินจ้างตามนัยดังกล่าวชอบแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคแรก เป็นเรื่องที่คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารไว้แล้ว แต่มิได้นำสืบหรือเป็นพยานเอกสารที่มิได้ระบุอ้างไว้ แต่ศาลแรงงานกลางเรียกมา อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามความเป็นธรรมแต่เมื่อจำเลยได้อ้างพยานเอกสาร และนำสืบก็ต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐ ที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารตามเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๑ โดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน และศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นจึงเป็นการรับฟังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๑ เป็นเอกสารที่แท้จริง แม้ว่าจำเลยจะไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานของศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ วรรคแรก คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจเรียกพยานเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๑ มาสืบเองเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีอันเป็นการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นอ้าง ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๑ นี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐ วรรคแรกดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่
พิพากษายืน

Share