คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาแล้ว ต่อมาโจทก์สืบพยานและอ้างส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล แล้วแถลงหมดพยานถือว่าโจทก์สืบพยานเอกสารเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นตั้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสองจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม
ตามรายการประจำนวนเกี่ยวกับคดีระบุข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท เป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 225,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 40,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่… ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลงลายมือชื่อและเขียนตัวเลขจำนวน 5,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ขอกู้เงินโจทก์เพิ่มเพื่อเป็นค่าโอนที่ดินลงใน ต่อมาโจทก์เขียนตัวเลข 51 เพิ่มขึ้นมาข้างหน้าตัวเลข 5,000 บาท จึงเป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่า ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยทั้งสองรับสำเนาไปแล้ว ต่อมาวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์สืบพยานและส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาลแล้ว โจทก์แถลงหมดพยานถือได้ว่าโจทก์สืบพยานเอกสารหมาย จ.9 เสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตนก็มิได้คัดค้านว่าเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารปลอมก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้ฝ่ายจำเลยคัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 วรรคสาม อีกทั้งจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ว่ามีการเพิ่มตัวเลขลงในจริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยเพิ่งเบิกความอ้างขึ้นมาภายหลังในชั้นสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ดังนั้น เอกสารดังกล่าวย่อมมีน้ำหนักรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพียง 260,000 บาท จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง …เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วตามบันทึก มูลหนี้เดิมตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุข้อความมีใจความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 50,000 บาท เป็นต้นเงินจำนวน 40,000 บาท และเป็นดอกเบี้ยจำนวน 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระจำนวน 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จึงเกินคำขอของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share