คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5013/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยกันปีละหนึ่งครั้ง หากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์เท่าใดจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคาร ก. สาขามุกดาหารจะพึงเรียกเก็บจากลูกค้าผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าว และหากจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในยอดหนี้ที่ค้างชำระแล้วทบเป็นยอดหนี้ที่ค้างชำระที่จะต้องนำไปหักทอนบัญชีในฤดูหีบอ้อยในปีต่อไประหว่างการเดินสะพัดทางบัญชี โจทก์มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีหลายครั้ง โดยโจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้มากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อการเดินสะพัดทางบัญชีของโจทก์มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในกรณีที่จำเลยค้างชำระหนี้และมีการนำดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะทบเข้ากับเงินต้นที่จะหักทอนบัญชีกันในปีต่อไป มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายจึงมีดอกเบี้ยทบต้นที่เป็นโมฆะระคนปนกันอยู่ ซึ่งโจทก์มิได้คำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมายมาให้ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งๆ ที่โจทก์สามารถคำนวณได้ เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหนี้ของโจทก์อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ให้สินเชื่อแก่จำเลยเพื่อใช้เป็นทุนในการปลูกและตัดอ้อยส่งให้แก่โจทก์ โดยจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการปลูกอ้อยตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีข้อตกลงว่า เมื่ออ้อยที่จำเลยปลูกมีขนาดโตพอที่จะตัดได้แล้วให้จำเลยตัดอ้อยส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลของโจทก์เพื่อทำการหีบอ้อยในแต่ละปี เงินกู้ที่จำเลยรับไปโจทก์จะลงบัญชีรับเงินโดยจำเลยหรือตัวแทนเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในแต่ละคราวไว้ในบัญชีเบิกจ่ายเงินท้ายสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลก็จะมีการลงบัญชีอ้อยเพื่อแสดงถึงปริมาณอ้อยที่จำเลยตัดส่งโรงงานน้ำตาลและคำนวณเป็นตัวเงินไว้โดยให้ถือว่า บัญชีอ้อยเป็นบัญชีเจ้าหนี้ของโจทก์ เมื่อหีบอ้อยในแต่ละปีสิ้นสุดลงก็จะทำการคิดบัญชีเพื่อหักทอนหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยปีละ 1 ครั้ง โดยกำหนดวันหักทอนบัญชีเป็นวันสุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี การหักทอนบัญชีในปีใด หากปรากฏว่าจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ จำเลยจะได้รับเงินส่วนที่เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ แต่หากปรากฏว่าจำเลยมีฐานะเป็นลูกหนี้ จำลยจะได้รับเงินส่วนที่เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ แต่หากปรากฏว่าจำเลยมีฐานะเป็นลูกหนี้ จำเลยจะต้องชำระเงินในส่วนนั้นให้แก่โจทก์ และยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามุกดาหาร จะพึงเรียกเก็บจากลูกค้าผู้กู้ยืมเงิน หากจำเลยไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระโจทก์จะนำเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมเข้ากับต้นเงินเป็นยอดหนี้ที่จะต้องนำไปหักทอนบัญชีในคดีหีบอ้อยในปีถัดไปอันเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการค้าในลักษณะบัญชีเดินสะพัด การเดินสะพัดบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2532 เรื่อยมาระหว่างเดินสะพัดทางบัญชีในปี 2537 จำเลยยังรับเอาหนี้ของนางเที่ยงซึ่งเป็นหนี้โจทก์จำนวน 278,854.26 บาท มาเป็นหนี้ของจำเลยและตกลงชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การหักทอนบัญชีในแต่ละปีส่วนใหญ่จำเลยจะตกเป็นหนี้โจทก์และยังไม่ได้ชำระ จนกระทั่งการหักทอนบัญชีในปี 2539 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนมาก หลังจากนั้นในฤดูหีบอ้อยต่อมา จำเลยไม่ได้ตัดอ้อยส่งให้แก่โจทก์เพื่อทำการหักทอนบัญชี ทั้งมิได้ชำระหนี้ทั้งหมด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเป็นหนี้เงินกู้และเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป จึงบอกเลิกสัญญากู้เงินและบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ จำเลยจึงเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้ดตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีลักษณะเป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัด แม้การคิดดอกเบี้ยจะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็สามารถคิดได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย หนี้ที่นำมาฟ้องมีจำนวนหนี้ที่หักทอนบัญชีกันแน่นอนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้นั้น เห็นว่า แม้สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด แต่ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสกล รักสัตย์ พยานโจทก์ว่าการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์และจำเลยจะทำกันปีละครั้งในวันสิ้นเดือนเมษายนของทุกปี การหักทอนบัญชีในปีใด หากปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์จำเลยจะได้รับเงินจำนวนที่เป็นเจ้าหนี้ แต่หากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์เท่าใด จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามุกดาหาร จะพึงเรียกเก็บจากลูกค้าผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าวหากจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในยอดหนี้ที่ค้างชำระแล้วทบรวมเป็นยอดหนี้ที่ค้างชำระที่จะต้องนำไปหักทอนบัญชีในฤดูหีบอ้อยในปีต่อไป การหักทอนบัญชีกระทำมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2539 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,362,779.29 บาท ตามสัญญากู้เงินเพื่อการทำอ้อย บัญชีเบิกจ่ายท้ายสัญญากู้และบัญชีอ้อยเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.8 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากการที่ศาลอุทธรณ์ตรวจบัญชีอ้อยปี 2534 ถึงปี 2535 โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19.92 ต่อปี ปี 2535 ถึงปี 2536 โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.8 ต่อปี ปี 2536 ถึงปี 2537 โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.79 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดดังกล่าวนั้นเป็นอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินอันจะเรียกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้มากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงเป็นโมฆะ ในการเดินสะพัดทางบัญชีของโจทก์มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในกรณีที่จำเลยค้างชำระหนี้และจะนำดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นเงินต้นที่จะหักทอนบัญชีกันในปีต่อไป ดังนั้น มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จึงเป็นยอดหนี้ที่คำนวณจากยอดเงินที่จำเลยค้างชำระในปีสุดท้ายที่หักทอนบัญชีกัน ยอดหนี้ดังกล่าวจึงมีดอกเบี้ยทบต้นที่เป็นโมฆะระคนปนกันอยู่ ซึ่งโจทก์มิได้คำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมายมาให้ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งๆ ที่โจทก์สามารถคำนวณได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหนี้ของโจทก์อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share