แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า เจ้าของรถ คือ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ตามมาตรา 7 ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุหรือมีรถยนต์คันเกิดเหตุไว้เพื่อใช้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีอำนาจเรียกเงินที่สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ช่วยค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยคือจากเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่มิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถยนต์ดังกล่าวโดยเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 นายวิเชาว์ พรมพันธ์ ขับรถยนต์ดังกล่าวไปแล้วประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักพุ่งออกนอกเส้นทางเป็นเหตุให้นายวิเชาว์กับนางบัง สืบสุนทร เสียชีวิต และนางสาวสำรอง อุทัยดา กับนางบุญเสริฐ จุลโนนยาง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายสุรชัย สืบสุนทร ทายาทของนางบัง นางสาวสำรอง และนายทูร เทวะสิงห์ ผู้รับมอบอำนาจจากนางบุญเสริฐได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดมหาสารคามขอรับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย โจทก์จึงนำเงินกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยทั้งสามคนละ 10,000 บาท รวม 30,000 บาท โจทก์มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนพร้อมด้วยเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 เป็นเงิน 6,000 บาท รวมเป็นเงิน 36,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,197 บาท รวมเป็นเงิน 38,197 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 38,197 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ แต่จำเลยที่ 2 กับนายดุสิต ผโลปกรณ์ เป็นผู้ครอบครอง จำเลยที่ 2 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปเสียจากการติดตามของจำเลยที่ 1 และขายต่อกันไป ภาระในการจัดให้มีการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อ และนายดุสิตผู้ครอบครอง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ผู้ครอบครองคือ นายดุสิต ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,197 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-6153 ขอนแก่น และได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อต่อไป คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 8 เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันกับบริษัท” และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เจ้าของรถ หมายความว่า ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ…” จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถคันเกิดเหตุ จึงเป็นเจ้าของรถตามความหมายมาตรา 4 แต่ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายว่า ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุหรือมีรถยนต์คันเกิดเหตุไว้เพื่อใช้ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 7 นี้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ที่โจทก์ฎีกาว่า การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะทำให้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับได้ไม่เต็มที่และไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยจากรถอย่างแท้จริง อันเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้แจ้งชัดแล้วว่า เจ้าของรถ คือ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อหากเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องการให้ทั้งผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถและผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายแล้ว มาตรา 7 น่าจะบัญญัติเพียงว่าเจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายเท่านั้น แต่ตามมาตรา 7 บัญญัติว่าเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหาย แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเฉพาะเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้เท่านั้นที่ต้องมีหน้าที่จัดให้มีการประกันความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 มีคำขอท้ายคำแก้ฎีกาขอให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลนั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องแก้ไข”
พิพากษายืน