คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกร้องสิทธิตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตโดยมีหนังสือรับสภาพหนี้ระบุว่า หากผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ไม่ตรงกำหนดในหนังสือรับสภาพหนี้ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงได้สิ้นสุดในวันดังกล่าวหาใช่สิ้นสุดในวันครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินสองปีนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นเงินจำนวน 455,937.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 294,559.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายสมโภชน์ อินทรานุกูล และนายไพฑูรย์ กิจสำเร็จ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์จริงแต่ไม่เคยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เคยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ แต่หากจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ไม่เป็นความจริง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากจำเลยไม่ได้ติดต่อกับโจทก์มาเป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.14 จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ ณ วันที่ 30 เมษายน 2539 เป็นเงิน 305,052.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นภายหลังตกลงผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 6,000 บาท ภายในวันที่ 17 ของทุกเดือน และจะชำระหนี้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2543 ดังนั้น อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2543 มิใช่เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ครั้งสุดท้ายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.14 ระบุว่า หากผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นงวดใดงวดหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้ธนาคารดำเนินคดีบังคับชำระหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดได้ทันที ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ซึ่งไม่ตรงกำหนดในหนังสือรับสภาพหนี้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดในวันดังกล่าว หาใช่สิ้นสุดในวันครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เกินสองปีนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องสิทธิตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตไม่ได้ฟ้องเรียกร้องสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้อง จึงเป็นเรื่องนอกคำฟ้องและเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share