คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828-829/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส. สามีโจทก์สำนวนแรก พ. โจทก์สำนวนหลัง และ ป.ภริยา พ. นั่งมาในรถยนต์ของ พ. ถูกรถคันหนึ่งชนอัดติดอยู่กับรถมีรถซึ่งลูกจ้างของจำเลยขับมาชนซ้ำ ทำให้ ส. ป. ตายและ พ. บาดเจ็บมากขึ้น รถของ พ. เสียหายมากขึ้น ไม่ใช่ร่วมกันทำละเมิดจำเลยต้องรับผิดแยกกับที่รถยนต์คันแรกก่อความเสียหายขึ้นตามส่วนของตน โดยต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของจำเลยทำขึ้นเท่านั้น ศาลพิพากษาแบ่งให้ชำระได้ตามสมควร โดยให้ค่าทำศพและค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าขาดรายได้ 1 ใน 3 ให้ใช้ค่าเสียหายแก่รถกึ่งหนึ่ง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ละสำนวน 1 ใน 3ค่าเสียหายแก่รถของโจทก์ให้จำเลยใช้กึ่งหนึ่งให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์สำนวนแรก27,660 บาท สำนวนหลัง 138,299 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนหลังเต็มจำนวน 183,647 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เหตุที่รถชนกันชั้น เนื่องจากนายสุชาติลูกจ้างจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์สำนวนหลัง ขณะชนกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ป.ข. 03023 อยู่ก่อน และทำให้นายสมบูรณ์และนางประยูรซึ่งได้รับบาดเจ็บมากอยู่แล้วถึงแก่ความตายทันที และโจทก์สำนวนหลังได้รับบาดเจ็บมากขึ้น และเหตุที่รถยนต์ของโจทก์สำนวนหลังชนกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่ารถยนต์บรรทุกคันนั้นเป็นฝ่ายประมาท จึงเห็นได้ว่า ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองสำนวนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะนายสุชาติลูกจ้างจำเลยและคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ป.ข. 03023 ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาท มิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของแต่ละฝ่ายที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เช่นนี้จะต้องแยกให้แต่ละฝ่ายนั้นรับผิดในผลแห่งละเมิดของตนตามส่วน ฉะนั้นการที่นายสุชาติลูกจ้างจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่คนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ป.ข. 03023 ขับชนรถยนต์ของโจทก์สำนวนหลังโดยประมาทแต่ประการใดด้วย จำเลยควรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะที่นายสุชาติลูกจ้างจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น ในข้อที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ศาลย่อมพิพากษาแบ่งให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามสมควรได้ สำหรับค่าจัดการศพ ค่าปลงศพ และค่าอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์สำนวนแรกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและแบ่งให้จำเลยรับผิด 1 ใน 3 ส่วน โดยให้จำเลยชดใช้ค่าจัดการศพและค่าปลงศพนายสมบูรณ์ผู้ตาย 7,660 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์20,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,660 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าปลงศพนางประยูรผู้ตาย ค่าขาดรายได้และค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ของโจทก์สำนวนหลัง ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายของโจทก์ คือค่าปลงศพนางประยูรผู้ตาย 23,000 บาท ค่าขาดรายได้ 80,000บาท และค่ารถของโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย 90,000 บาทนั้น เป็นจำนวนพอสมควรและเหมาะสมแล้วเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เต็มจำนวนดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยสมควรแบ่งให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามส่วนดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยแล้ว เห็นสมควรแบ่งให้จำเลยรับผิดสำหรับค่าปลงศพ1 ใน 3 ส่วน ค่าขาดรายได้ 1 ใน 3 ส่วน และค่ารถยนต์ของโจทก์ที่นายสุชาติลูกจ้างจำเลยได้ทำละเมิดเกิดความเสียหายมาก จึงให้รับผิด 2 ใน 3 ส่วนฉะนั้นโจทก์จึงได้รับค่าเสียหาย คือค่าปลงศพ 7,666 บาท 67 สตางค์ค่าขาดรายได้ 26,666 บาท 67 สตางค์ ค่ารถยนต์ของโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย60,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ ซึ่งไม่มีการโต้เถียงกันอีก 647บาท รวมเป็นเงิน 44,480 บาท 34 สตางค์

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์สำนวนหลัง 94,980 บาท 34 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share