แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะมีชีวิตอยู่ ห. เพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น ห. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ห. ตกได้แก่บรรดาทายาทของ ห. ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่ ห. ถึงแก่กรรมแล้วจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ห. คนอื่นๆ ด้วย จำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็เพราะว่าในการที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นนอกจากจำเลยจะมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วจำเลยยังขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ดังนั้น ในการอุทธรณ์จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งคำฟ้องโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 38 หมู่ที่ 4 ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นทรัพย์มรดกของนางหมิก กับให้จำเลยถอนคำขอฉบับที่ 5455/2538 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2537 ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่กองมรดกของนางหมิกจำนวน 240,000 บาท และชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดิน
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาให้โจทก์ถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 38 หมู่ที่ 4 (หมู่ที่ 7) ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหมิก แซ่เตียว ให้แบ่งที่ดินพิพาทแก่ทายาทออกเป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน ให้โจทก์ในฐานะส่วนตัวและจำเลยได้รับคนละ 1 ส่วน กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่กองมรดกของนางหมิก 59,178 บาท พร้อมกับค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 ธันวาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาท ให้โจทก์จัดการมรดก เก็บผลมะพร้าวไปขายนำมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่ให้จำเลยสามารถนำส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทหักออกจากจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระดังกล่าวได้ คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองเลขที่ 38 หมู่ที่ 4 (หมู่ที่ 7) ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนางหมิก ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 59,178 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 ธันวาคม 2537) เป็นต้นไปจนกว่าส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยให้เสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา 20,000 บาท ค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ยกเว้นให้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 38 หมู่ที่ 4 ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อนางหมิก แซ่เตียว เป็นผู้แจ้งการครอบครอง ขณะที่นางหมิกยังมีชีวิตอยู่ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท แต่นางหมิกถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดิน ภายหลังนางหมิกถึงแก่กรรม จำเลยได้ไปยื่นคำขอรังวัดซ้ำใบไต่สวนเพื่อให้ทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลทราบเรื่องได้ไปยื่นคำคัดค้านไว้และได้มาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าในการกำหนดประเด็นข้อพิพาท ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ไว้ด้วย และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเช่นนั้นไม่ชอบไม่ถูกต้องประการใด เมื่อเป็นเช่นนี้อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ให้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ ข้อนี้โจทก์อ้างตนเองและมีนายไชยวุฒิ วรรณุรักษ์ เป็นพยานเบิกความ ได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ฝ่ายโจทก์ได้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่มีอยู่ที่สำนักงานที่ดินต่างๆ แล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่านางหมิกได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใด เพียงแต่ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 แต่นางหมิกได้ถึงแก่กรรมไปก่อนจึงยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินให้แก่นางหมิก ฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคลมานำสืบว่า นางหมิกยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวแค่ผู้เดียวมาโดยตลอดตั้งแต่นางหมิกยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีทายาทของนางหมิกคนใดโต้แย้งคัดค้าน และการที่นางหมิกไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทนั้นก็เพื่อจะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยให้ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้เพราะเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งนางหมิกว่าที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นั้น ไม่สามารถทำการโอนให้แก่กันได้ เห็นว่า ตามคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น มีข้อความแสดงว่าการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวก็เพื่อนางหมิกจะได้ถือหลักฐานกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคำขอรังวัดซ้ำในใบไต่สวนเอกสารหมาย จ.12 ที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ปรากฏว่าจำเลยอ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากนางหมิก ทั้งตามบันทึกถ้อยคำที่เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.18 ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าก่อนนางหมิกถึงแก่กรรม นางหมิกมีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ที่จำเลยมาดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินก็เพื่อจะโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขณะมีชีวิตอยู่นั้น นางหมิกเพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น เมื่อนางหมิกถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนางหมิกตกได้แก่บรรดาทายาทของนางหมิกซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่นางหมิกถึงแก่กรรมแล้วจึงถือเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของนางหมิกคนอื่นๆ ด้วยจำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้องข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายนั้น ข้อนี้โจทก์อ้างตนเองเบิกความลอยๆ ว่า ผลมะพร้าวที่เก็บได้จากที่ดินพิพาทขายได้เดือนละ 20,000 บาท แต่โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้เห็นว่าสามารถขายผลมะพร้าวดังกล่าวได้จำนวนเงินแต่ละเดือนเท่านั้นจริง ทางฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดเจนว่าผลมะพร้าวที่เก็บได้จากที่ดินพิพาทสามารถขายได้จำนวนเงินเดือนละเท่าใดแน่แต่เมื่อจำเลยได้ให้การว่าเคยเก็บผลมะพร้าวในที่ดินพิพาทนำไปขายได้เดือนละ 4,000 บาท ถึง 5,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็เพราะว่าในการที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น นอกจากจำเลยจะมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วจำเลยยังขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ดังนั้น ในการอุทธรณ์จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งคำฟ้องโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน