คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเกี่ยวกับกรณีรถยนต์ของโจทก์ที่สูญหายได้รายงานผลการสอบสวนสรุปความเห็นเป็น 3 ประการเสนอต่อเลขาธิการสำนักงานโจทก์แล้ว เลขาธิการได้บันทึกต่อท้ายรายงานนั้นว่า’ทราบ สยช. (โจทก์) ได้รับเรื่องเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 ขอให้ ลขก. (เลขานุการกรม) พิจารณาเสนอ’ จึงต้องถือว่า โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2526 การให้เลขานุการกรมพิจารณาเสนอความเห็น เป็นเรื่องที่เลขาธิการสำนักงานโจทก์ดำเนินการต่อไปหลังจากรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว หาใช่ยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานโจทก์และได้รับมอบหมายให้ควบคุม สั่งการ และดูแลรักษารถยนต์โตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน กท.๒ ง – ๗๓๑๔ ของโจทก์ ได้นำรถยนต์ไปใช้ราชการแล้วละเลยไม่สั่งการให้นำรถยนต์ไปจอดเก็บรักษาไว้ในบริเวณจอดรถที่สำนักงาน ป.ป.ป. ตามปกติ เป็นการผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. ๒๕๒๓ และประมาท เป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ดังกล่าวไป ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้ใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ และว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเกี่ยวกับกรณีรถยนต์สูญหายซึ่งแต่งตั้งโดยผู้รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานโจทก์ได้ทำรายงานผลการสอบสวนลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๒๖ เสนอต่อเลขาธิการสำนักงานโจทก์สรุปความเห็นว่าคณะกรรมการ ฯ มีความเห็นเป็น ๓ ประการ ประการที่ ๑ ผู้ที่ต้องรับผิดทางแพ่ง คือ นายวิฑูรย์ คุ้มเกิด พนักงานขับรถ นายเรือง เจิมศิริ หัวหน้างานธุรการ กองส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน นายพิทยา รอดเมืองเจ้าหน้าที่อยู่เวร ประการที่ ๒ เห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดคือ นายวิฑูรย์ คุ้มเกิด กับจำเลย และประการที่ ๓ เห็นว่านายวิฑูรย์ คุ้มเกิด ผู้เดียวควรรับโทษทางวินัยเท่านั้น และนายกระมล ทองธรรมชาติ เลขาธิการสำนักงานโจทก์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานโจทก์ในขณะนั้นได้บันทึกต่อท้ายรายงานของคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวว่า ‘ทราบ สยช. (โจทก์) ได้รับเรื่องเมื่อ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ขอให้ ลขก. (เลขานุการกรม) พิจารณาเสนอ ‘ จึงต้องถือว่า โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖ การให้เลขานุการกรมพิจารณาเสนอความเห็นก็เป็นเรื่องที่เลขาธิการสำนักงานโจทก์ดำเนินการต่อไปหลังจากรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว หาใช่ยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กำหนดไว้ก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จึงพ้นกำหนดปีหนึ่ง คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
พิพากษายืน.

Share