แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีโจทก์กับ ป. ร่วมกันซื้อที่ดินมาเพื่อจัดสรรขายให้แก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการซื้อมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ครั้นเมื่อสามีโจทก์ตายโจทก์จดทะเบียนรับโอนมรดกในที่ดิน และโจทก์ดำเนินการขายที่ดินนั้นต่อไปตามเจตนาเดิมของเจ้ามรดก ทั้งโจทก์ก็ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ไว้ด้วย ดังนี้การขายที่ดินของโจทก์เป็นการขายไปในทางการค้าหากำไร ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า
เมื่อการขายที่ดินของโจทก์ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มิใช่เป็นการขายทรัพย์สินอันเป็นมรดกตามความหมายของมาตรา 42(9) แล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายเข่ง นายเข่งกับนายปัญญามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและได้จัดสรรขายแก่คนทั่วไป โดยจดทะเบียนการค้า ต่อมานายเข่งตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเข่ง ตกลงเลิกสัญญาหุ้นส่วนระหว่างนายเข่งกับนายปัญญาและแบ่งที่ดินที่ยังเหลืออยู่ โดยโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินนั้นไปแบ่งแก่ทายาทต่อไป เป็นที่ดินซึ่งตกทอดมายังทายาทของนายเข่งรวม 53 แปลง ซึ่งโจทก์ได้ทำการโอนทะเบียนมาเป็นชื่อของโจทก์ต่อมาได้ทยอยขายไปจนหมด เป็นการขายทรัพย์สินอันเป็นมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไรไม่ต้องเสียภาษีการค้าอีกด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบถึงสิทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว และเจ้าหน้าที่แนะนำให้จดทะเบียนการค้า โจทก์สำคัญผิดจึงได้จดทะเบียนการค้าและนำเงินที่ขายที่ดินนั้นไปเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ. 2522 และ 2523 รวมเป็นเงิน 222,819.45 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ชำระไปนั้น จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และพิพากษาว่าการจดทะเบียนการค้าของโจทก์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า การที่นายเข่งกับนายปัญญาร่วมกันซื้อที่ดินมาจัดสรรขายเอากำไรแบ่งปันกัน เข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วน โดยจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้าในนามของนายเข่งตลอดมา เมื่อนายเข่งตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเข่ง ได้ขอแก้ชื่อในโฉนดเป็นชื่อของโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายปัญญาทั้งหมด แล้วแจ้งเลิกการค้าที่นายเข่งจดทะเบียนไว้ จากนั้นโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าในนามของโจทก์ เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตลอดมา การที่โจทก์ขอถอนชื่อนายเข่งออกจากโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อของโจทก์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการรับมรดก แต่เป็นการเข้ามามีชื่อในโฉนดแทนนายเข่งในฐานะหุ้นส่วน โดยความยินยอมของนายปัญญาผู้เป็นหุ้นส่วนเดิมไม่ทำให้สัญญาหุ้นส่วนเดิมเลิกกัน การขายที่ดินดังกล่าวจึงมิได้เป็นการขายทรัพย์สินอันเป็นมรดก เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไรโจทก์จดทะเบียนการค้าและเสียภาษีด้วยความสมัครใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินที่โจทก์ขายไปนั้น เดิมนายเข่งสามีโจทก์กับนายปัญญาได้ร่วมกันซื้อมาเพื่อจัดสรรขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการซื้อมาโดยมุ่งทางการค้าหรือหากำไร ครั้นเมื่อนายเข่งถึงแก่ความตาย และโจทก์จดทะเบียนรับมรดกที่ดินทั้ง 53 แปลงมาแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการขายที่ดินนั้นต่อไปตามเจตนาเดิมของเจ้ามรดก ทั้งโจทก์ก็ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ไว้ด้วย การขายที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่าเป็นการขายไปในทางการค้าหากำไร เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 11. ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าดังกล่าว
ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ว่า ‘เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
(1)…………..
……………..
(9) การขายทรัพย์สินอันเป็นมรดก หรือการขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ….’ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้นว่า นายเข่งสามีโจทก์ซื้อที่ดินเหล่านี้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ครั้นเมื่อสามีโจทก์ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการขายที่ดินนั้นไปในทางการค้าหากำไร ตามเจตนาเดิมของเจ้ามรดก ซึ่งในการขายทรัพย์ของโจทก์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหาใช่เป็นการขายทรัพย์สินอันเป็นมรดกตามความหมายของมาตรา 42 (9) นั้นไม่โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีเงินได้ที่ชำระไปแล้ว
พิพากษายืน.