คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ครั้งแรกผู้เสียหายถูกพวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในสวนปาล์มโดยจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย หลังจากผู้เสียหายนุ่งกางเกง และเดินมาถึงถนนข้างสวนปาล์มจึงพบกับจำเลย จำเลยได้กอดและลากพาตัวผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราที่ข้างจอมปลวกใหญ่ในป่าหญ้าคาดังนี้ จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่างสถานที่ ต่างเวลาและขาดตอนจากการที่พวกของจำเลยกระทำในครั้งแรก จึงหาใช่เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสองไม่ คงเป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่งและมาตรา 278 เท่านั้น จำเลยกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจารโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุใด เหตุหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 281 จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ผู้เสียหายมีสิทธิถอน คำร้องทุกข์ได้ก่อนคดีถึงที่สุด เมื่อผู้เสียหายถอน คำร้องทุกข์ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเช่นนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)คำพิพากษาของศาลล่างย่อมระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับอีกต่อไป ศาลฎีกาต้องจำหน่ายคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกอีกสามคนร่วมกันกระทำอนาจารและร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276, 278
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันเป็นการโทรมหญิงและมีความผิดฐานกระทำอนาจารอีกบทหนึ่งให้ลงโทษบทหนักฐานข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นการโทรมหญิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83 ให้จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ส่วนผู้เสียหายยื่นคำร้องลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 ขอถอนคำร้องทุกข์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงแห่งคดียังฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ หากจำเลยกระทำความผิดแล้วจะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือว่าเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 วรรคสองดังที่โจทก์ฎีกา หากข้อเท็จจริงฟังยุติเป็นประการใดแล้วจักเป็นผลให้การใช้สิทธิถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายและการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์นั้นแตกต่างกันไป ฉะนั้นในชั้นนี้ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยและโจทก์ต่อไปตามลำดับเสียก่อนที่จะวินิจฉัยสั่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย…
ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำความผิดของจำเลยมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น พิเคราะห์แล้ว คดีได้ความจากคำของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า พวกของจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราตนครั้งแรกจำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่หลังจากถูกข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกแล้วผู้เสียหายได้นุ่งกางเกงเดินออกจากสวนปาล์มมาถึงถนนข้างสวนปาล์มผู้เสียหายจึงพบกับจำเลย จำเลยได้กอดผู้เสียหายลากพาตัวเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราที่ข้างจอมปลวกใหญ่ในป่าหญ้าคาเช่นนี้ การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายครั้งนี้จึงต่างสถานที่ ต่างกาลเวลาและขาดตอนจากการที่พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายครั้งแรก จึงหาใช่เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสองตามที่โจทก์ฟ้องและฎีกาขึ้นมาไม่ แต่การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่งเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276วรรคหนึ่ง จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในเมื่อปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง และมาตรา 278 และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นางสาวสุพรรษา หนูพรหม ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องลงวันที่27 กุมภาพันธ์ 2530 ความว่าไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลย ขอถอนคำร้องทุกข์ โดยโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว แถลงรับว่านางสาวสุพรรษาหนูพรหม ที่มาศาลในวันนั้นเป็นผู้เสียหายจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 (สำนวนอันดับที่ 124) โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวได้เกิดต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายหรือเป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เช่นนี้ จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ดังนั้นผู้เสียหายจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคหนึ่ง การถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) มีผลให้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัวไม่มีผลบังคับต่อไป
จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความศาลฎีกา”.

Share