แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ43,000 บาท แต่ต่อมาโจทก์ได้รับค่าจ้างไม่ครบจำนวนดังกล่าวเพราะการกระทำของจำเลยที่ผิดสัญญาจ้าง การคำนวณค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องนำค่าจ้างเดือนละ 43,000 บาท มาเป็น เกณฑ์ในการคำนวณ และเมื่อจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบ43,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์
ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นค่าเสียหาย ที่ ศาลแรงงานกลางกำหนดให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างชดใช้แทนโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา เมื่อคดี มี ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างครบถ้วนศาลแรงงานกลางย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงค่าเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอัตราค่าจ้างเดือนละ ๔๓,๐๐๐ บาท กำหนดชำระทุกวันที่ ๕ ของเดือนต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ จำเลยกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ลาออก โดยให้ไปทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ลดเงินเดือนโจทก์และให้โจทก์ทำยอดขายให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในใบลาออกจากงาน แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อ จำเลยจึงสั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพนักงานอื่น ๆ มิให้เปิดประตูให้โจทก์เข้าทำงาน การที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่มการบอกเลิกจ้างไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน๓,๗๐๗,๕๔๑.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอัตราค่าจ้างเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท จำเลยไม่เคยกลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์เมาสุราอาละวาดใช้ปินยิงในโรงงานของจำเลยต่อหน้าคนงาน พูดขู่ทำร้ายกรรมการและบุคคลอื่นโทรศัพท์ข่มขู่กรรโชกทรัพย์จากจำเลย โจทก์ขาดงานไม่ยื่นใบลา ทำให้งานจำเลยเสียหายสมควรไล่ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหาย โจทก์ขาดงานไปเกิน ๑ เดือนจึงขาดจากการเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๔๓,๐๐๐ บาทจำเลยลดค่าจ้างโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง และไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันการเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน๑๒๙,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๔๓,๐๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๗,๒๐๐ บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๑๓๓,๐๐๐ บาทและค่าเสียหายจำนวน ๘๖,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๔๓,๐๐๐ บาท ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานต่อมาจำเลยลดค่าจ้างดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างโดยจำเลยไม่มีสิทธิกระทำได้ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องนำเอาอัตราค่าจ้างเดือนละ ๔๓,๐๐๐ บาทมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบ ๔๓,๐๐๐ บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามฟ้อง และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายเพราะเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบค่าเสียหาย การกำหนดค่าเสียหายจึงขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายเพราะเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นค่าเสียหายที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งบัญญัติให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างครบถ้วนเพียงพอที่ศาลแรงงานกลางจะถือเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว หาเป็นการขัดต่อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน